ปลัดกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงกรณีผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวโรฮิงญาและคดีประสาทพระวิหาร (๑๕ ม.ค. ๒๕๕๖)

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงกรณีผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวโรฮิงญาและคดีประสาทพระวิหาร (๑๕ ม.ค. ๒๕๕๖)

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ม.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 พ.ย. 2565

| 2,551 view

 

  เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๖ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนกรณีผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวโรฮิงญาและคดีประสาทพระวิหาร สรุปได้ดังนี้

                  ๑.  เมื่อวานนี้ (๑๔ มกราคม ๒๕๕๖) เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับผู้ลักลอบเข้าเมืองดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องว่า การเข้ามาในประเทศไทยของชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ ซึ่งมีจำนวนถึง ๘๕๗ คน ประกอบด้วยชาย ๖๖๗ คน หญิง ๓๐ คน และเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ๑๖๐ คน ถือเป็นการลักลอบเข้าเมืองซึ่งจะต้องมีการปฏิบัติตามกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้อง แต่โดยที่มีเป็นจำนวนมากและมีผู้หญิงและเด็กอยู่ด้วยหลายคน ซึ่งบางส่วนอาจเป็นเหยื่อของขบวนการลักลอบขนคนเข้าเมืองและการค้ามนุษย์ การดำเนินการต่อคนกลุ่มนี้จึงต้องใช้ข้อพิจารณาด้านมนุษยธรรมด้วย ในชั้นนี้ ทางการไทยได้ให้ความช่วยเหลือดูแลเบื้องต้นในด้านที่พักพิง อาหารและการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโดยได้จัดให้เด็กและสตรีพำนักอยู่ที่ศูนย์พักพิง จ. สงขลา และชายพำนักอยู่ที่ศูนย์ตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านตำบลปาดังเบซาร์ และด่านอำเภอสะเดา และที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอสะเดา ขณะเดียวกัน หน่วยงานไทยจะเข้าไปสอบสวนและคัดกรองหากมีกรณีเหยื่อของขบวนการขนคนเข้าเมืองและการค้ามนุษย์ ก่อนที่จะดำเนินการขั้นต่อไป

                         ปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ มีองค์การระหว่างประเทศด้านมนุษยธรรม อาทิ UNHCR IOM และ UNICEF ให้ความสนใจเกี่ยวกับชาวโรฮิงญากลุ่มนี้และประสงค์ที่จะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ ซึ่งก็จะต้องหารือกันกับทางการไทยก่อน เพื่อหาแนวทางการดำเนินการบนพื้นฐานของหลักอธิปไตย กฎหมายของไทย ความโปร่งใสและหลักมนุษยธรรมต่อไป และสำหรับผู้ที่มิใช่เหยื่อของการค้ามนุษย์ ทางการไทยก็จะดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายไทยและหลักปฏิบัติสากลในการส่งกลับถิ่นฐานเดิม อย่างไรก็ตาม ไทยจะต้องหารือและขอความร่วมมือกับรัฐบาลเมียนมาร์เพื่อตรวจสอบเรื่องสัญชาติของบุคคลกลุ่มนี้ก่อนที่จะดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของกลุ่มคนดังกล่าวเป็นสำคัญ    

                   ๒.  ประเด็นเกี่ยวกับคดีตีความคำพิพากษาคดีประสาทพระวิหาร ปี ๒๕๐๕

                         ๒.๑  กรณีที่มีบุคคลบางกลุ่มเห็นว่า รัฐบาลไทยน่าจะอ้างอนุสัญญากรุงโตเกียว เพื่อคัดค้านคดีตีความฯ นั้น ปลัดกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่า “อนุสัญญากรุงโตเกียว” หรืออนุสัญญาสันติภาพระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส จัดทำขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในขณะที่ไทยมีความขัดแย้งกับฝรั่งเศสสืบเนื่องมาจากกรณีพิพาทอินโดจีน ซึ่งญี่ปุ่นได้เข้ามาไกล่เกลี่ย โดยภายใต้อนุสัญญาดังกล่าว ไทยได้ดินแดนส่วนหนึ่งมาจากฝรั่งเศส รวมถึงปราสาทพระวิหาร แต่ภายหลังเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง โดยฝรั่งเศสเป็นฝ่ายชนะสงคราม ประเทศไทยซึ่งต้องการเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ต้องเจรจากับประเทศมหาอำนาจสำคัญหลายประเทศ รวมทั้งฝรั่งเศส และนำไปสู่การจัดทำ “ความตกลงกรุงวอชิงตัน” ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ กับฝรั่งเศส ซึ่งมีผลทำให้ยกเลิกอนุสัญญากรุงโตเกียวฯ กล่าวคือ ไทยต้องคืนดินแดนที่ได้มาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ให้แก่ฝรั่งเศส ดังนั้น ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ อนุสัญญากรุงโตเกียวสิ้นผลไปแล้ว

                         ๒.๒  ประเด็นเรื่องคณะกรรมการมรดกโลกกับผลการตัดสินคดีตีความฯ ตามที่มีบุคคลออกมาแสดงความเห็นว่า ไทยควรถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก (World Heritage Committee – WHC) นั้น ปลัดกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่า หากเพราะกังวลว่า การเป็นสมาชิกของไทยจะทำให้ไทยเสียเปรียบในคดีตีความฯ นั้น เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะคณะกรรมการมรดกโลกดูแลเรื่องการขึ้นทะเบียนและดูแลสถานที่ที่เป็นมรดกโลก สำหรับข้อกังวลเกี่ยวกับการที่กัมพูชาจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ ๓๗ นั้น ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า ไม่มีข้อน่ากังวล เพราะระเบียบวาระการประชุมไม่ได้มีเรื่องที่เกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร และการบรรจุเรื่องใดเข้าสู่วาระการประชุมไม่ได้กำหนดขึ้นโดยประธานการประชุมฯ แต่ต้องนำเข้าสู่การประชุมของ Bureau ซึ่งประกอบด้วยรองประธานจากภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งประเทศไทยเป็นเองประธานสำหรับกลุ่มภูมิภาคเอเชียด้วย

                         ๒.๓  การยื่นฟ้องคดีกระทรวงการต่างประเทศในข้อหาให้ข้อมูลเท็จ กรณีที่มีบุคคลยื่นฟ้องกระทรวงการต่างประเทศเป็นเรื่องขั้นตอนของกฎหมาย และปลัดกระทรวงการต่างประเทศยังไม่ขอแสดงข้อคิดเห็นใด ๆ ในชั้นนี้ และต้องศึกษาประเด็นฟ้องอย่างละเอียด อย่างไรก็ดี ยืนยันว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตและอย่างเต็มที่มาโดยตลอด เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของชาติและภายใต้กรอบของกฎหมาย เรื่องนี้ไม่ควรนำมาเป็นเรื่องการเมือง เพราะคนไทยทุกกลุ่มควรร่วมมือกันเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ