วันที่นำเข้าข้อมูล 28 พ.ย. 2566
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2566
เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ นายณัฐพล ขันธหิรัญ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยจากทั่วโลก จำนวน ๙๗ คน ศึกษาดูงานที่ศูนย์ฝึกโรงเรียนจิตอาสา ๙๐๔ (บางเขน) ในห้วงการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลก ประจำปี ๒๕๖๖ ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ที่กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ และนำไปขยายผลในการส่งเสริมบทบาทของไทยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และการส่งเสริมความสัมพันธ์กับนานาประเทศ
คณะเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ได้รับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการดำเนินงานของศูนย์ฝึกโรงเรียนจิตอาสา ๙๐๔ และเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การทำการเกษตรอย่างยั่งยืนและการประยุกต์ใช้สิ่งของที่มีในครัวเรือนเพื่อให้เกิดประโยชน์ ซึ่งเป็นแบบอย่างในการนำหลักปฏิบัติท้องถิ่น (home-grown approaches) ของไทยมาปรับใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยได้อย่างยั่งยืน และเป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของไทย ซึ่งมีความเป็นสากลและสอดคล้องกับวาระการพัฒนาของโลกที่เน้นการพัฒนาอย่างสมดุลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ไทยมีบทบาทที่โดดเด่นและเป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้เผยแพร่หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SEP for SDGs) รวมทั้งผ่านโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนา รวมทั้งในโอกาสที่ไทยเป็นประธานการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคเมื่อปี ๒๕๖๕ ซึ่งที่ประชุมฯ ได้รับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bangkok Goals on Bio - Circular - Green (BCG) Economy) เพื่อขับเคลื่อนให้ภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิกมีความเจริญเติบโตอย่างเข้มแข็ง สมดุล มั่นคง และยั่งยืน และต่อมา สหรัฐฯ ในการเป็นประธานการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในปีนี้ ได้สานต่อหลักการดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ ไทยยังเป็นผู้ประสานงานของอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Coordinator on Sustainable Development) อีกด้วย
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล saraban@mfa.go.th
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **