วันที่นำเข้าข้อมูล 28 มิ.ย. 2555
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (IMT – GT) ได้เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 2536 โดยผู้นำทั้ง 3 ประเทศ ได้เห็นชอบที่จะให้ผลักดันการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในลักษณะไตรภาคี ระหว่างภาคใต้ของไทย ภาคเหนือของมาเลเซีย และพื้นที่บนเกาะสุมาตรา ของอินโดนีเซีย โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้และกำหนดแนวทางการดำเนินงานโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่าง 3 ประเทศ ให้มีการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ สูงสุด โดยเน้นความร่วมมือด้านการผลิต การส่งเสริมการลงทุน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทาง เศรษฐกิจของพื้นที่ IMT – GT นอกจากนั้น ยังมุ่งเน้นให้มีการพัฒนาการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงข่ายคมนาคมขนส่งและระบบสาธารณูปโภคระหว่างประเทศ
พื้นที่ ความร่วมมือประกอบด้วย พื้นที่เกือบทั้งหมดของเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ได้แก่ แคว้นอาเจะห์ จังหวัดสุมาตราเหนือ จังหวัดสุมาตราตะวันตก จังหวัดสุมาตราใต้ จังหวัดบังกูลู จังหวัดเรียวและจังหวัดจัมบี พื้นที่ทางตอนเหนือและตะวันตกของมาเลเซีย ได้แก่ เคดาห์ เปรัก ปีนัง เปอร์ลิส เซลังงอร์ และกลันตัน และพื้นที่ 8 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ได้แก่ สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ยะลา สตูล ตรัง พัทลุง และนครศรีธรรมราช
กรอบความร่วมมือ IMT – GT มีกลไกการดำเนินงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน กล่าวคือ
1. การประชุมไตรภาคีระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและระดับรัฐมนตรี ซึ่งจัดขึ้นทุกปี เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินงานของโครงการความร่วมมือต่างๆ ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินงานของภาคเอกชน มีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นหน่วยประสานงานกลางของไทยและมีกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ร่วมสนับสนุน
2. การประชุมสภาธุรกิจร่วมสามฝ่าย เป็นการประชุมของภาคเอกชนทั้ง 3 ประเทศ โดยจะจัดการประชุมก่อนการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและระดับรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาแผนงานโครงการความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน มีสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ของไทยเป็นผู้ประสานงานกลาง
ที่ผ่านมา IMT-GT ได้ มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การดำเนินงานของกรอบความร่วมมือให้กระชับและเน้น ไปสู่การปฏิบัติได้จริง โดยเน้นการพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบของแนวพื้นที่สะพานเศรษฐกิจ สงขลา-ปีนัง-เมดาน (Seamless Songkhla-Penang-Medan Economic Development Corridor) ภายใต้การกำหนดประเด็นความร่วมมือบนพื้นฐานของการเชื่อมโยงศักยภาพการพัฒนา ของพื้นที่สะพานเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ เพื่อให้เป็นฐานเศรษฐกิจหลักที่สนันสนุนและกระจายการพัฒนาไปสู่พื้นที่ต่อ เนื่องใน IMT-GT ต่อไป โดยในปัจจุบันแนวทางดำเนินการแผนงาน ได้เน้นความร่วมมือตามแผนงานและโครงการที่ภาคเอกชนสนใจอย่างแท้จริงและเป็น โครงการที่ปฏิบัติได้โดยไม่ขัดผลประโยชน์แห่งชาติสมาชิก ซึ่งมีกรอบการพิจารณาแผนงาน/โครงการร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเสนอขอรับการสนับสนุนการอำนวยความสะดวกและปรับกฎระเบียบโดยภาครัฐ ซึ่งสาระสำคัญของการพัฒนาความร่วมมือได้แบ่งเป็น 6 ด้าน ดังนี้
1. การค้าและการลงทุน
2. การเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตรและสิ่งแวดล้อม
3. การท่องเที่ยว
4. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม
5. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
6. ผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล
สถานะล่าสุด
มาเลเซีย เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำ IMT-GT ครั้งที่ 1 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2548 ซึ่งผู้นำที่เข้าร่วมการประชุมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นอย่างสร้าง สรรค์ ภายใต้บรรยากาศการประชุมแบบมิตรภาพ และได้รับรองรายงานการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 12 ซึ่งอินโดนีเซีย เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่เมืองเปกันบารู เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2548
ในการประชุมผู้นำ ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ได้เสนอให้มีการศึกษาแนวทางการขยายความร่วมมือเพิ่มเติม อาทิ ในด้านคมนาคม พลังงาน ความ มั่นคง และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ในขณะที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือน และการพบปะหารือระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ IMT-GT ให้มากขึ้น รวมทั้งการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชน
ใน การนี้ นายกรัฐมนตรีของไทย ได้ชี้ให้เห็นว่า สันติภาพและความสงบสุข เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งก่อนที่จะเกิดความเจริญมั่งคั่ง นอกจากนี้ ได้เสนอให้มีการส่งเสริมการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนมากขึ้น รวมทั้งการเคลื่อนไหวอย่างเสรีของเงินทุน สินค้าและการบริการ โดยประเทศสมาชิกจำเป็นต้องให้มีการปรับปรุงกฎ ระเบียบ ด้านการค้า การ ลงทุน ศุลกากรและการตรวจคนเข้าเมือง ให้มีความสอดคล้องกันมากขึ้น เพื่ออำนวยการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้สนับสนุนข้อเสนอของมาเลเซียและอินโดนีเซีย ในเรื่องความร่วมมือด้านพลังงาน และและการให้ความสำคัญต่อความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยไทยได้สนับสนุนนโยบายเปิดเสรีด้านการบิน และการส่งเสริมความร่วมมือด้านการบินกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย
ที่ประชุมฯ ได้ให้การรับรอง Summit Joint Statement ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดบทบาท ยุทธศาสตร์ และแนวทางการดำเนินความร่วมมือระหว่างสมาชิก รวมทั้งเห็นชอบให้มีการจัดการประชุมระดับผู้นำเป็นประจำทุกปี ในช่วงการประชุมผู้นำอาเซียน
ในการประชุมผู้นำ IMT-GT ครั้งที่ 2 ที่ฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2550 ที่ประชุมเห็นชอบเอกสาร Roadmap (2550-2554) สำหรับการพัฒนาระยะเวลา 5 ปี ของ IMT-GT สนับสนุนให้สภาธุรกิจร่วม (Joint Business Council – JBC) มีบทบาทนำในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวในพื้นที่ โดยภาครัฐจะให้การสนับสนุนด้านการปรับปรุงกฏระเบียบ และมอบหมายให้ระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส ติดตามการดำเนินโครงการตาม Roadmap และ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด มุขมนตรี ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อเร่งรัดการดำเนินโครงการความร่วมมือต่างๆ ให้ประสบผลโดยเร็ว รวมถึงขอให้ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ให้การสนับสนุนด้านคำปรึกษา แนะแนวด้านเทคนิค รวมทั้งช่วยระดมทุนสำหรับโครงการต่างๆ
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ IMT-GT จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ http://www.nesdb.go.th/econSocial/spetialDev/plan_continent2.htm
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล saraban@mfa.go.th
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **