วันที่นำเข้าข้อมูล 28 มิ.ย. 2555
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
กำเนิด WTO
องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) เป็นองค์การระหว่างประเทศ ที่มีพัฒนาการมาจากการทำความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้าหรือ แกตต์ (General Agreement on Tariffs and Trade: GATT) เมื่อปี พ.ศ. 2490 ซึ่งขณะนั้น ยังไม่มีสถานะเป็นสถาบันจนกระทั่งการเจรจาการค้ารอบอุรุกวัยสิ้นสุดลง และผลการเจรจาส่วนหนึ่งคือ การก่อตั้ง WTO ขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2538 มีสมาชิกเริ่มแรก 81 ประเทศ และมีที่ตั้งอยู่ที่นครเจนีวา ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก WTO เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2538 เป็นสมาชิกลำดับที่ 59 มีสถานะเป็นสมาชิกก่อตั้ง ขณะนี้ มีประเทศที่อยู่ระหว่างกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก WTO ที่สำคัญ เช่น รัสเซีย ลาว มูลค่าการค้าระหว่างประเทศสมาชิก WTO ด้วยกันคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 90 ของการค้าโลก และการขยายตัวของจำนวนสมาชิกจะมีผลให้การค้าระหว่างประเทศสมาชิกขยายตัว เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ปัจจุบัน (เดือนสิหาคม 2550) WTO มีสมาชิกอย่างเป็นทางการทั้งสิ้น 151 ประเทศ สมาชิกล่าสุดประกอบด้วย เนปาล กัมพูชา ซาอุดิอารเบีย และตองกา ซึ่งภาคยานุวัติ การเข้าเป็นสมาชิก เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2550 และได้เป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2550
วัตถุประสงค์
WTO มีการเจรจาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป (progressive liberalization) ตามความพร้อมของประเทศสมาชิก และระดับการพัฒนาของประเทศสมาชิก กฎกติกาต่างๆ ของ WTO ได้กำหนดให้มีการปฏิบัติอย่างเป็นพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนา (Special and Differential Treatment: S&D) เพื่อให้สามารถเข้าร่วมในระบบการค้าพหุภาคีได้ WTO จึงเป็นองค์กรที่ไม่หยุดนิ่ง จะมีการเจรจาเพื่อพัฒนาและสร้างกฎกติกาใหม่ๆ เพื่อให้สามารถรองรับกับวิวัฒนาการของการค้าระหว่างประเทศและรูปแบบการค้า โลกที่เปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง
การเป็นสมาชิกของ WTO ทำให้ประเทศสมาชิกมีสิทธิและพันธกรณี (Rights and Obligations) ที่จะต้องปฏิบัติตามภายใต้ความตกลงต่างๆ ของ WTO กฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศของ WTO นอกจากช่วยส่งเสริมให้การแข่งขันทางการค้าเป็นธรรมแล้ว ยังสร้างความมั่นใจให้แก่ทั้ง ผู้ค้าและผู้ลงทุน ผู้ผลิตและส่งออกสามารถคาดการณ์และวางแผนการค้าระหว่างประเทศล่วงหน้าได้
หน้าที่ของ WTO
1. บริหารความตกลง และบันทึกความเข้าใจที่เป็นผลจากการเจรจาในกรอบของ GATT/WTO รวม 28 ฉบับ โดยผ่านคณะมนตรี (Council) และคณะกรรมการ (Committee) ต่างๆ ตลอดจนดูแลให้มีการปฏิบัติตามพันธกรณี
2. เป็นเวทีเพื่อเจรจาลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างสมาชิกทั้งในรูปของ
มาตรการภาษีศุลกากรและมาตรการที่มิใช่ภาษีศุลกากร
3. เป็น เวทีสำหรับแก้ไขข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างสมาชิก และหากไม่สามารถตกลงกันได้ก็จะมีการจัดตั้งคณะผู้พิจารณา (Panel) ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ข้อเสนอแนะ รวมทั้งมีกลไกยุติข้อพิพาทด้วย
4. ติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ และจัดให้มีการทบทวนนโยบาย การค้าของสมาชิกอย่างสม่ำเสมอเพื่อเป็นการตรวจสอบให้เป็นไปในแนวทางการค้า เสรี
5. ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาในด้านข้อมูล ข้อแนะนำเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีได้อย่างเพียงพอตลอดจนทำการศึกษา ประเด็นการค้าที่สำคัญๆ
6. ประสานงานกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกเพื่อให้นโยบายเศรษฐกิจโลกสอดคล้องกันยิ่งขึ้น
ความตกลงที่สำคัญภายใต้ WTO
ความตกลงภายใต้องค์การการค้าโลกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. การเปิดตลาด
1.1 การลดภาษีศุลกากรสินค้าอุตสาหกรรม (รวมสินค้าประมง)
- ประเทศต่างๆ ลดภาษีลงเฉลี่ยร้อยละ 33 ภายใน 5 ปี (เริ่มมกราคม พ.ศ. 2538)
- ห้ามเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ หากไม่มีการเก็บอยู่แล้ว และไม่ได้แจ้งไว้
1.2 สินค้าเกษตร
- ทุกประเทศยกเลิกมาตรการการห้ามนำเข้า โดยให้ปรับเปลี่ยนมาใช้มาตรการภาษีศุลกากรแทน
- ลดภาษีลงเฉลี่ยร้อยละ 36 และ 24 โดยลดลงอย่างน้อยร้อยละ 15 และ 10 ในแต่ละรายการสินค้าภายใน 5 ปี และ 10 ปี สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนาตามลำดับ
- ลดการอุดหนุนสินค้าเกษตร ทั้งการอุดหนุนภายใน และการอุดหนุนส่งออก
1.3 สิ่งทอและเสื้อผ้า
ให้มีการเปิดเสรีสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแทนการใช้ข้อตกลงสินค้าสิ่งทอระหว่างประเทศ (Multi-Fibre Arrangement: MFA) โดย
- ให้ยกเลิกการจำกัดการนำเข้าภายใต้ MFA ทั้งหมดภายใน 10 ปี
- ให้ขยายโควตานำเข้ารายการที่ยังไม่ได้นำกลับเข้ามาอยู่ในแกตต์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538
2. กฎระเบียบการค้า
มีการปรับปรุงและกำหนดกฎระเบียบการค้าที่สำคัญ เช่น
- ความตกลงว่าด้วยการใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อนุญาตให้ประเทศสมาชิกกำหนดระดับความปลอดภัยและการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำ เข้า แต่จะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศเพื่อป้องกันมิให้แต่ละประเทศ กำหนดมาตรฐานตามใจชอบ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการค้า
- ความตกลงว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาด กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการไต่สวนการทุ่มตลาดให้รัดกุมยิ่งขึ้นเพื่อให้ประเทศ ต่างๆ ปฏิบัติให้สอดคล้องกัน เป็นการลดโอกาสที่อาจมีประเทศผู้นำเข้าใช้มาตรการตอบโต้เพื่อกีดกันการค้า อย่างไม่เป็นธรรม
- ความตกลงว่าด้วยการตอบโต้การอุดหนุน กำหนดประเภทของการอุดหนุนไว้อย่างชัดเจนว่าการอุดหนุนประเภทใดเป็นการอุด หนุนที่ต้องห้าม ประเภทใดเป็นการอุดหนุนที่ทำได้และประเภทใดเป็นการอุดหนุนที่เมื่อทำแล้วอาจ ถูกมาตรการตอบโต้ นอกจากนั้น ยังได้กำหนดแนวปฏิบัติในการไต่สวนเพื่อการตอบโต้สินค้าเข้าที่ได้รับการอุด หนุนจากประเทศผู้ผลิตเพื่อให้แต่ละประเทศถือปฏิบัติ
3. เรื่องใหม่ ๆ
มีการจัดทำข้อตกลงเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการในเรื่องที่ยังไม่มีกฎเกณฑ์ของแกตต์กำกับมาก่อนหรือหากมีก็น้อยมาก ได้แก่
- ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPS) กำหนดขอบเขตและมาตรฐานการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาประเภทที่สำคัญ ได้แก่ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์การออกแบบ วงจรรวม สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และความลับทางการค้า
- การค้าบริการ กำหนดกรอบความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ โดยมีหลักการสำคัญในทำนองเดียวกับแกตต์ เช่น หลักการไม่เลือกปฏิบัติ ความโปร่งใส การเปิดเสรีแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นต้น
- มาตรการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการค้า (TRIMs) กำหนดหลักการสำคัญคือ ทุกประเทศต้องยกเลิกมาตรการลงทุนที่มีผลเท่ากับการกีดกันการนำเข้าโดยประเทศ พัฒนาแล้วต้องยกเลิกใน 2 ปี ประเทศกำลังพัฒนาใน 5 ปี มาตรการเหล่านั้น ได้แก่ มาตรการกำหนดให้ใช้วัตถุดิบในประเทศในการผลิตสินค้าหรือที่เรียกว่า local content requirement ไม่ว่าข้อกำหนดนี้จะเป็นข้อบังคับหรือเป็นเงื่อนไขต่อการที่ผู้ผลิตภายในจะ ได้รับสิทธิพิเศษใดๆ ก็ตาม เช่น สิทธิในข้อยกเว้นไม่เสียภาษีตามนโยบายส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น
โครงสร้างของ WTO
องค์กรของ WTO ที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายตลอดจนควบคุมการดำเนินงานของสมาชิกในเรื่องต่างๆ เรียงตามลำดับความสำคัญ คือ ที่ประชุมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Conference) คณะมนตรีใหญ่ (General Council) คณะมนตรี (Council) และคณะกรรมการต่างๆ (Committee) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของสมาชิก WTO โดยมีฝ่ายเลขานุการช่วยด้านการบริหารงานทั่วไป
WTO กำหนดให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีอย่างน้อยทุกๆ 2 ปี เพื่อทบทวนปัญหาในการปฏิบัติตามข้อผูกพันของสมาชิก และวางแนวทางในการเปิดเสรีภายใต้ WTO ต่อไป
การประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 – 13 ธันวาคม 2539 ณ ประเทศสิงคโปร์ (SMC)
รัฐมนตรีมีมติให้ WTO ศึกษาประเด็นทางการค้าใหม่ๆ (new issues) ได้แก่ การค้ากับการลงทุน
การ ค้ากับนโยบายการแข่งขัน ความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การอำนวยความสะดวกทางการค้า รวมทั้งตกลงเปิดเสรีสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยลดภาษีสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศให้เหลือศูนย์ภายในปี 2543 – 2548 (สำหรับประเทศกำลังพัฒนา)
การประชุมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 18 – 20 พฤษภาคม 2541 ณ นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ (GMC) รัฐมนตรีตกลงที่จะไม่เรียกเก็บภาษีศุลกากรจากการค้าผ่านการใช้สื่อ อิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า ปฏิญญาเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
การประชุมครั้งที่ 3 เมื่อ วันที่ 30 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2542 ณ นครซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา ประเทศพัฒนาแล้วต้องการให้เปิดการเจรจารอบใหม่ที่รวมเรื่องต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่
การค้ากับการลงทุน นโยบายการแข่งขัน ความโปร่งใสในการจัดซื้อโดยรัฐ การค้ากับสิ่งแวดล้อม แรงงาน แต่การประชุมล้มเหลว โดยสมาชิกไม่สามารถตกลงกันได้
การประชุมครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 5 – 13 พฤศจิกายน 2544 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์
ที่ ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้เปิดเจรจาการค้ารอบใหม่ โดยเน้นความสำคัญเรื่องการพัฒนา เรียกชื่อว่า Doha Development Agenda (การเจรจารอบโดฮา) และกำหนดให้การเจรจาสิ้นสุด ณ วันที่ 1 มกราคม 2548 (โดยมีข้อยกเว้นสำหรับการเจรจาเกี่ยวกับการปรับปรุง Dispute Settlement Understanding (DSU) กำหนดให้สิ้นสุดภายในสิ้นภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม 2546) นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบเอกสารสุดท้ายที่สำคัญ 3 ฉบับ ได้แก่ (1) แถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Declaration) (2) ข้อตัดสินใจเรื่องการปฏิบัติตามพันธกรณี (Decision on Implementation-Related Issues and Concerns) และ (3) แถลงการณ์เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและบริการสาธารณสุข (Declaration on the TRIPS Agreement and Public Health)
การประชุมครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 10 – 14 กันยายน 2546 ณ เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโก ที่ประชุมหาข้อสรุปไม่ได้ โดยการเจรจาเรื่องเกษตรเป็นประเด็นใหญ่ที่สุด/มีการเจรจาอย่างเข้มข้นตลอด ช่วงการประชุม แต่การที่สมาชิกตกลงกันไม่ได้ในประเด็นเรื่อง Singapore Issues ว่า จะให้เริ่มการเจรจาและรวมอยู่ในการเจรจารอบโดฮานี้หรือไม่ (Single undertaking) กลับเป็นประเด็นที่เป็นต้นเหตุของความล้มเหลวในการประชุมครั้งนี้
การประชุมครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 13 – 18 ธันวาคม 2548 ที่ประชุมสามารถให้การรับรองโดยฉันทามติต่อร่าง Ministerial Declaration ที่ยืนยันเจตนารมณ์ของสมาชิกที่จะเจรจารอบโดฮาให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย ภายในปี 2549 และกำหนดกรอบ / รูปแบบการเจรจารอบโดฮาที่กำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีผลผูกพันให้สมาชิกเปิดตลาด ลดภาษีศุลกากรนำเข้า/มาตรฐานการกีดกันการค้า และลดการอุดหนุนภาครัฐสำหรับการค้าเกษตรการเปิดตลาดสินค้า อุตสาหกรรม (NAMA) การค้าบริการ การช่วยเหลือประเทศผู้ผลิตฝ้ายที่ยากจนและได้รับความเดือดร้อนจากการอุดหนุน ของประเทศที่พัฒนาแล้ว การให้การปฏิบัติที่พิเศษและแตกต่าง (S&D) กับประเทศกำลังพัฒนา ทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPS) การค้าและสิ่งแวดล้อม การอำนวยความสะดวกการค้า กฏเกณฑ์ทางการค้า การปรับปรุงกระบวนการระงับข้อพิพาท ความช่วยเหลือทางวิชาการ Aid for Trade เป็นต้น
ความคืบหน้าด้านสารัตถะที่สำคัญ ได้แก่ สมาชิกตกลงที่จะยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกทุกรูปแบบภายในปี 2556 ความเชื่อมโยงระหว่างความคืบหน้าในการเจรจา เรื่องเกษตรและ NAMA การแก้ไขปัญหาเรื่องฝ้ายสำหรับประเทศในแอฟริกาตะวันตก และประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาที่แถลงข่าวว่าสามารถทำได้ จะนำเข้าสินค้าจาก LDCs โดยปราศจากภาษีและโควตานำเข้าอย่างน้อยร้อยละ 97 ของสินค้าที่มีต้นกำเนิดมาจาก LDCs ภายในปี 2551
พัฒนาการของการเจรจารอบโดฮาตั้งแต่การประชุม ครั้งที่ 6
ท่าทีไทย/ประเด็นที่ต้องติดตาม
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล saraban@mfa.go.th
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **