วันที่นำเข้าข้อมูล 29 มิ.ย. 2555
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
บทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศในด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และการพัฒนาทางเลือก (Alternative Development) |
1. ไทยให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาข้ามชาติ โดยรัฐบาลมียุทธศาสตร์แก้ไขปัญหายาเสพติด “พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด” ซึ่งประกอบด้วย 7 แผนหลัก ได้แก่ 1) แผนสร้างพลังสังคมและพลังชุมชนเอาชนะยาเสพติด 2) แผนการแก้ไขปัญหายาเสพติด/ผู้ติดยาเสพติด 3) แผนการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติด 4) แผนการปราบปรามยาเสพติดและบังคับใช้กฎหมาย 5) แผนความร่วมมือระหว่างประเทศ 6) แผนสกัดกั้นยาเสพติด และ 7) แผนบริหารจัดการแบบบูรณาการ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เป็นหน่วยงานหลัก
2. ในมิติของการเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศนั้น มุ่งเน้นการลดปริมาณยาเสพติดที่เข้ามาจากต่างประเทศ และเพิ่มความร่วมมือด้านยาเสพติดกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมุ่งเน้นการปราบปราม/สกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดน การเพิ่มความร่วมมือด้านการข่าวกับประเทศเพื่อนบ้าน การเพิ่มความร่วมมือกับประเทศหรือองค์การอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลต่อประเทศเพื่อนบ้าน และเพิ่มการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาทางเลือกให้กับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น
3. กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศด้านยาเสพติดที่สำคัญ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกที่ไทยมีส่วนร่วม ได้แก่
3.1 คณะกรรมาธิการด้านยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ (Commission on Narcotic Drugs - CND) ซึ่งเป็นเวทีหารือและแก้ไขปัญหายาเสพติดระดับโลก และแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างประเทศในกรอบสหประชาชาติ และเป็น Governing Body หนึ่งของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime – UNODC) ทั้งนี้ ออท. ณ กรุงเวียนนา ทรงได้รับเลือกให้เป็นรองประธานคนที่ 2 ของการประชุม CND56 (ปี 2556) และต่อมาทรงได้รับเลือกเป็นรองประธานคนที่ 1 ของการประชุม CND57 (ปี 2557) ด้วย (โดยปกติรองประธานคนที่ 1 จะเป็นประธานการหารือ ข้อมติต่าง ๆ ในกรอบ Committee of the Whole) อนึ่ง การประชุม CND57 ในปี 2556 จะประกอบด้วยการประชุมที่สำคัญ ได้แก่ ระดับสูง (High Level Review of 2009 Political Declaration and Plan of Action) ระหว่างวันที่ 13-14 มี.ค. 2557 และการประชุม CND57 สมัยปกติ ระหว่างวันที่ 17-21 มี.ค. 2556
3.2 ความร่วมมือภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ 7 ฝ่ายว่าด้วยการควบคุมยาเสพติดในอนุภูมิภาค หรือ MOU 7 ฝ่าย ไทย ลาว เมียนมาร์ จีน กัมพูชา เวียดนาม และ UNODC เพื่อผลักดันการดำเนินงานด้านการแก้ไขปัญหาการลักลอบผลิต ค้า และเสพยาเสพติดในภูมิภาคตามแผนปฏิบัติการระดับอนุภูมิภาคเพื่อการควบคุมยาเสพติด (Sub-Regional Action Plan on Drug Control)
3.3 การประชุม HONLEA (Heads of National Drug Law Enforcement Agencies) เป็นการประชุมย่อยภายใต้ CND แบ่งการประชุมตามภูมิภาค โดยเน้นความร่วมมือของฝ่ายปราบและบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการแลกเปลี่ยนการข่าว สำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
3.4 ความร่วมมือในกรอบอาเซียนต่าง ๆ เพื่อให้อาเซียนบรรลุการเป็นเขตปลอดยาเสพติดภายในปี 2558 ตาม ASEAN Declaration on Drug Free 2015 โดยมีกลไกการประสานงานหลักที่สำคัญของอาเซียน คือ ASEAN Senior Officials on Drug Matters (ASOD) ทั้งนี้ ในการประชุม ASOD ครั้งล่าสุด ไทยได้เสนอให้มีการจัดตั้งหน่วยงาน ป.ป.ส. กลางของอาเซียน (ASEAN-Narco) เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการประสานความร่วมมือของอาเซียนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
3.5 ความร่วมมือที่สำคัญอื่น ๆ อาทิ คณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission) ทวิภาคีระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โครงการให้ความช่วยเหลือด้านการควบคุมพืชเสพติดโดยการปลูกพืชทดแทนและการพัฒนาทางเลือก การจัดสรรทุนในการจัดการฝึกอบรมเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติให้แก่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ การจัดทำ MOU ด้านความร่วมมือด้านยาเสพติดกับประเทศต่าง ๆ และ การดำเนินโครงการ Thai Youth Initiative against Drugs
4. บทบาทของไทยด้านการพัฒนาทางเลือก (Alternative Development)
4.1 ไทยมีบทบาทเด่นในฐานะประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่น โดยการใช้การพัฒนาทางเลือกในการแก้ไขปัญหาแบบสมดุลในการลดอุปสงค์และปริมาณยาเสพติด ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมาย อันเป็นแนวทางตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงริเริ่มจัดตั้งโครงการหลวงขึ้นในปี พ.ศ. 2512 โดยใช้รูปแบบการปลูกพืชทดแทนฝิ่น และขยายครอบคลุมการพัฒนาด้านการเกษตร สาธารณสุข และการศึกษา และมีการพัฒนาไปสู่การพัฒนาชนบทแบบผสมผสาน
4.2 ปัจจุบันมีสองหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานและเผยแพร่งานด้านการพัฒนาทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหาการปลูกพืชเสพติดของไทย คือ มูลนิธิโครงการหลวง และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ส. ได้ร่วมมือกับมูลนิธิทั้ง 2 มูลนิธิ โดยมีกระทรวงฯ เป็นส่วนสนับสนุน ในการเผยแพร่งานด้านการพัฒนาทางเลือกของไทยในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อให้เป็นหลักการที่ยอมรับในระดับสากล
4.3 ไทยมีความร่วมมือกับเปรูในการผลักดันการพัฒนาทางเลือก เพื่อลดการปลูกพืชเสพติดที่ยั่งยืน และได้ร่วมกันดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยในปี 2554 ไทยเป็นเจ้าภาพสัมมนาเชิงปฏิบัติการนานาชาติว่าด้วยการพัฒนาทางเลือกที่ยั่งยืน (International Seminar Workshop on Sustainable Alternative Development) ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง กต. สำนักงาน ป.ป.ส. มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิโครงการหลวง และ UNODC ระหว่างวันที่ 6-11 พ.ย. 2554 ณ จ. เชียงราย และ จ. เชียงใหม่ ซึ่งได้เสริมสร้างบทบาทของไทยในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับภูมิภาคและในฐานะประเทศที่ให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา และประสบความสำเร็จในการเผยแพร่หลักการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยการพัฒนาทางเลือกแก่ประเทศต่าง ๆ และต่อมาเปรูได้เป็นเจ้าภาพการประชุมนานาชาติระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาทางเลือก (International High Level Conference on Alternative Development) ในระหว่างวันที่ 14-16 พ.ย. 2555 ณ กรุงลิมา โดยในการประชุมครั้งนี้ไทยได้แสดงบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในการกำหนดทิศทางการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการต่อต้านยาเสพติด โดยเฉพาะการให้ความร่วมมือกับประเทศสมาชิก UN อื่น ๆ ในการผลักดันการพิจารณาและรับรองแนวทางปฏิบัติสากลว่าด้วยการพัฒนาทางเลือก (International guiding principles on alternative development)
4.4 จากการผลักดันข้างต้น ไทยและเปรูได้ร่วมกันนำเสนอร่างข้อมติเรื่อง United Nations Guiding Principles on Alternative Development (UNGPs on AD) ซึ่งผ่านการรับรองจากที่ประชุม CND ในสมัยที่ 56 เมื่อเดือน มี.ค. 2556 ณ กรุงเวียนนา และที่ประชุมคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (ECOSOC) เมื่อเดือน ก.ค. 2556 ที่นครเจนีวา และได้รับการรับรองโดยฉันทามติจากที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) สมัยที่ 68 เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2556 ทั้งนี้ ภายหลังการรับรองข้อมติดังกล่าวของ UNGA สำนักงาน ป.ป.ส. มีดำริที่จะจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการนานาชาติว่าด้วยการพัฒนาทางเลือกอีกครั้งในปี 2557 เพื่อเป็นการต่อยอดการผลักดันให้มีการดำเนินการตามข้อมติของไทยกับเปรูในวงกว้างต่อไป ตลอดจนอาจมีการเสนอร่างข้อมติเพื่อติดตามการดำเนินการตาม UNGPs on AD ในช่วง CND57 ด้วย
-----------------------------------
กองการสังคม
กรมองค์การระหว่างประเทศ.
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล saraban@mfa.go.th
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **