วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ก.ค. 2555
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
สาธารณรัฐเซาท์ซูดาน
The Republic of South Sudan
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ระหว่างภูมิภาคแอฟริกาและตะวันออกกลาง และมีพรมแดนติดกับ สาธารณรัฐแอฟริกากลาง เอธิโอเปีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ยูกันดา และเคนยา
พื้นที่ 619,745 ตร.กม. (ใหญ่กว่าไทยประมาณร้อยละ 20)
เมืองหลวง กรุงจูบา (Juba)
ประชากร 7.5 – 9.7 ล้านคน (2554)
ภูมิอากาศ มีอากาศร้อนชื้น
ภาษา อารบิก และอังกฤษ
ศาสนา ความเชื่อดั้งเดิม คริสต์ อิสลาม
วันชาติ 9 กรกฎาคม
เซาท์ซูดานมีระบบการปกครองแบบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดี ซึ่งมาจากการเลือกตั้งเป็นประมุขของรัฐ และหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี คณะรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี ฝ่ายนิติบัญญัติประกอบด้วยสภา 2 สภา ได้แก่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (National Legislative Assembly) มีสมาชิกจำนวน 332 คน มาจากการเลือกตั้ง มีวาระ 4 ปี และสภาแห่งชาติ (Council of States) มีสมาชิกจำนวน 50 คน มาจากการแต่งตั้ง มีวาระ 5 ปี ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ นาย Salva Kiir Mayardit
หลังได้รับเอกราช เซาท์ซูดานประสบปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มติดอาวุธภายในประเทศ ซึ่งมีที่มาจากความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ด้านการเมือง และเชื่อว่าบางส่วนอาจได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลซูดาน ขณะนี้ รัฐบาลเซาท์ซูดานได้พยายามแก้ไขความขัดแย้งกับกลุ่มติดอาวุธ โดยใช้การเจรจา เพื่อสร้างความปรองดองและความมั่นคงให้แก่ประเทศ
รายได้ของเซาท์ซูดานส่วนใหญ่มาจากการผลิตน้ำมันดิบ คิดเป็นร้อยละ 98 ของรายได้ประชาชาติ เซาท์ซูดานเป็นผู้ผลิตน้ำมันสำคัญอันดับที่ 3 ของแอฟริกา และอันดับที่ 30 ของโลก โดยกำลังการผลิตน้ำมันดิบวันละ 260,000 บาร์เรล ปัจจุบัน แคนาดา ฝรั่งเศส จีน อินเดีย และมาเลเซีย ได้เริ่มลงทุนด้านน้ำมันในเซาท์ซูดานแล้ว อย่างไรก็ดี ขณะนี้ เซาท์ซูดานยังต้องพึ่งพาซูดานในการส่งออกน้ำมันดิบผ่านทางเมืองท่า Port Sudan ของซูดาน
ประชากรชาวเซาท์ซูดานส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพเกษตรกรรมแบบยังชีพ เซาท์ซูดานมีที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น บริเวณที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำไวท์ไนล์ จึงมีผืนดินและแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูก
เซาท์ซูดานมีนโยบายเปิดรับการลงทุนและความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เนื่องจากเซาท์ซูดานยากจนและขาดโครงสร้างพื้นฐาน มีถนนราดยางเพียง 60 กิโลเมตร ไฟฟ้าผลิตจากน้ำมันดีเซลและน้ำประปายังมีใช้ไม่ทั่วถึง ธนาคารโลกมีแผนที่จะสนับสนุนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเกษตร และการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ
ประชาคมนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาสนับสนุนการแยกประเทศเซาท์ซูดานอย่างเต็มที่ หลังจากประชาชนชาวเซาท์ซูดานลงประชามติแยกประเทศเมื่อเดือน ม.ค. 2554 (ค.ศ. 2011) ประธานาธิบดี Obama ได้ประกาศแสดงความยินดีและแสดงความพร้อมที่จะรับรองเซาท์ซูดานในทันที ภายหลังประกาศเอกราช เซาท์ซูดานได้รับการรับรองให้เป็นสมาชิกสหประชาชาติอย่างรวดเร็ว เมื่อวันที่ 14 ก.ค. และเป็นสมาชิกสหภาพแอฟริกาเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ปีเดียวกัน ตามลำดับ การเป็นสมาชิกสหประชาชาติทำให้เซาท์ซูดานสามารถสมัครเป็นสมาชิกธนาคารโลก และองค์กรการเงินระหว่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้มีสิทธิรับความช่วยเหลือด้านการพัฒนาได้
การประกาศเอกราชของเซาท์ซูดานเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2554 ผ่านไปอย่างสงบเรียบร้อย แต่สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างซูดานและเซาท์ซูดานยังไม่ยุติ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุความตกลงเกี่ยวกับปัญหาที่คั่งค้าง อาทิ ภาระหนี้สินของซูดานเดิม สัญชาติของประชาชน การกำหนดพรมแดน สิทธิเหนือจังหวัด Abyei และการแบ่งปันผลประโยชน์จากน้ำมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 ประเด็นหลัง ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวต่อความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างทั้งสองประเทศมากที่สุด ในการนี้ สหประชาชาติได้จัดตั้งภารกิจ United Nations Interim Security Force for Abyei (UNISFA) และ UN Mission in the Republic of South Sudan (UNMISS) เพื่อส่งเสริมความมั่นคงในเซาท์ซูดาน และเสริมสร้างสภาพที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างชาติ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน
รัฐบาลซูดานได้พยายามกดดันรัฐบาลเซาท์ซูดานตั้งแต่ปลายเดือน มิ.ย. 2554 (ค.ศ. 2011) โดยตลอด โดยเพิ่มทหารในพื้นที่ชายแดน และปิดกั้นเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าและเดินทางของประชาชนระหว่างทั้งสองประเทศ จนเป็นสาเหตุทำให้อาหารสินค้าอุปโภคและน้ำมันเชื้อเพลิงในเซาท์ซูดานเริ่มขาดแคลนและมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลเซาท์ซูดานเชื่อว่า เป็นแผนการบ่อนทำลายฝ่ายเซาท์ซูดาน
เพื่อลดการพึ่งพาซูดาน รัฐบาลเซาท์ซูดานใช้นโยบายการขยายความร่วมมือด้านการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เอธิโอเปีย ยูกันดา และเคนยา โดยเซาท์ซูดานและเคนยาได้ร่วมกันวางแผนสร้างระบบท่อขนส่งน้ำมันดิบระยะทางประมาณ 1,400 กม. จากเซาท์ซูดานมายังท่าเรือเมือง Lamu ทางตอนเหนือของเคนยา โดยได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากจีนและญี่ปุ่น
ในขณะเดียวกัน เซาท์ซูดานใช้กลไกทางการทูตเรียกร้องให้องค์กรระหว่างประเทศโดยเฉพาะสหประชาชาติและสหภาพแอฟริกา ที่เซาท์ซูดานเพิ่งเป็นสมาชิก รวมถึงประเทศมหาอำนาจกดดันรัฐบาลซูดานยุติการสู้รบและกลับสู่กระบวนการเจรจาอีกครั้ง เมื่อเดือน ก.พ. 2555 (ค.ศ. 2012) รัฐบาลซูดานและเซาท์ซูดานได้ลงนามในข้อตกลงไม่รุกรานกัน (non-aggression pact) ที่กรุงแอดดิสอาบาบา แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ข้อขัดแย้ง ล่าสุด ในเดือน เม.ย. 2555 (ค.ศ. 2012) เกิดการปะทะระหว่างทหารซูดานและเซาท์ซูดาน เพื่อแย่งชิงแหล่งน้ำมันดิบ
ความสัมพันธ์ทั่วไป
ขณะนี้ไทยและเซาท์ซูดานอยู่ระหว่างการดำเนินการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต โดยไทยรับรองสาธารณรัฐเซาท์ซูดานอย่างเป็นทางการแล้วตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2554 (ค.ศ. 2011) ฝ่ายไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี เป็นจุดติดต่อเซาท์ซูดานไปพลางก่อน และจะให้มีเขตอาณาครอบคลุมเซาท์ซูดานภายหลังการสถาปนาความสัมพันธ์ฯ ส่วนฝ่ายเซาท์ซูดานได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตเซาท์ซูดานประจำเคนยาเป็นจุดติดต่อกับไทย
ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
มีบริษัทก่อสร้างไทยและแรงงานไทยเข้าไปดำเนินการก่อสร้างถนนในดินแดนของเซาท์ซูดานตั้งแต่ก่อนการประกาศเอกราชจากซูดานจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ บริษัทขายเครื่องขุดเจาะน้ำบาดาลไทยซึ่งมีสำนักงานอยู่ในกรุงไนโรบี เริ่มเข้าไปขายเครื่องขุดเจาะน้ำบาดาลในเซาท์ซูดานแล้ว
ความตกลงทวิภาคี – ยังไม่มี
การเยือนระดับสูง – ยังไม่มี
************************
มิถุนายน 2555
กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา 0-2643-5047-8
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล saraban@mfa.go.th
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **