การจัดสัมมนา "มองเมียนมาร์ในมุมใหม่: Shaping New Business Leaders for A New Myanmar"

การจัดสัมมนา "มองเมียนมาร์ในมุมใหม่: Shaping New Business Leaders for A New Myanmar"

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 เม.ย. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 พ.ย. 2562

| 2,201 view

            เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๖ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมไทย – พม่าเพื่อมิตรภาพ ได้จัดการสัมมนา “มองเมียนมาร์ในมุมใหม่: Shaping New Business Leaders for a New Myanmar” ณ โรงแรม Conrad กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจากนายเซ็ต อ่อง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เป็นผู้กล่าวปาฐกถาพิเศษ
            การสัมมนามีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลแก่ภาคเอกชนไทยเกี่ยวกับทิศทางพัฒนาประเทศของเมียนมาร์ ซึ่งมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว รวมทั้งกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของเมียนมาร์เพื่อส่งเสริมโอกาสทางการค้าการลงทุนสำหรับภาคเอกชนไทย โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ องค์การระหว่างประเทศ ภาคเอกชนไทยและเมียนมาร์ มาร่วมให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ร่วมการสัมมนา
            นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวเปิดการสัมมนา โดยกล่าวถึงการปฏิรูปในเมียนมาร์ ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว และได้รับความสนใจและการสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นย้ำว่า ไทยในฐานะมิตรประเทศเพื่อนบ้านและสมาชิกอาเซียน ได้สนับสนุนการพัฒนาในเมียนมาร์อย่างเต็มที่มาโดยตลอดและได้ดำเนินบทบาทเชื่อมโยงเมียนมาร์กับประชาคมระหว่างประเทศ ตลอดจนเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศสนับสนุนเมียนมาร์อย่างเป็นรูปธรรม  นายสีหศักดิ์ฯ ยังได้กล่าวถึงความร่วมมือของไทยเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปเศรษฐกิจในเมียนมาร์  การขยายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับเมียนมาร์ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในเมียนมาร์ และความคืบหน้าของโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของเมียนมาร์ ไทยและภูมิภาคนี้ในภาพรวม  อีกทั้งได้ย้ำถึงบทบาทสำคัญของการลงทุนจากต่างประเทศต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจในเมียนมาร์ ซึ่งภาคเอกชนไทยสามารถมีส่วนร่วมได้ โดยควรคำนึงถึงการลงทุนด้วยความรับผิดชอบ และให้ความสำคัญกับกิจกรรม  CSR ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน รวมทั้งเคารพในวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นด้วย 
            ในช่วงการกล่าวปาฐกถาพิเศษ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการวางแผนฯ เมียนมาร์ได้กล่าวย้ำถึงเจตนารมณ์ทางการเมืองและความพร้อมของเมียนมาร์ในการผลักดันการพัฒนาประเทศ ซึ่งเมียนมาร์ตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนจากต่างประเทศต่อการพัฒนาประเทศ  และต้องการการลงทุนจากต่างประเทศในระยะยาวที่มีกิจกรรม CSR ที่เหมาะสมในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีความสมดุลระหว่างการลงทุนจากต่างประเทศและในประเทศ  โดยรัฐบาลเมียนมาร์ได้พยายามเสริมสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน และปรับปรุงกฎหมาย    ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศฉบับใหม่ กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา รวมถึงการสร้างความโปร่งใสของกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและการบังคับใช้กฎหมายด้านเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการวางแผนฯ เมียนมาร์ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายต่อการส่งเสริมการเชื่อมโยงภูมิภาคของแนวพื้นที่เศรฐกิจด้านใต้ของภูมิภาค (Southern Economic Corridor)  ซึ่งเชื่อมโยงกับเมืองสำคัญในภูมิภาคฯ อาทิ กรุงเทพฯ เสียมราฐ  กรุงพนมเปญ และนครโฮจิมินห์  ทั้งนี้ การปฏิรูปเศรษฐกิจในเมียนมาร์เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาแต่รัฐบาลเมียนมาร์มีความมุ่งมั่นในการผลักดันการปฏิรูปให้ก้าวหน้า ซึ่งมิตรอย่างประเทศไทยมีความสำคัญอย่างยิ่ง และขอเชิญชวนภาคเอกชนไทยไปร่วมลงทุนในเมียนมาร์
              นอกจากนี้  ผู้ร่วมการสัมมนาได้รับฟังการเสวนาในหัวข้อ “มองเมียนมาร์ในมุมใหม่”  โดยนายดำรง ใคร่ครวญ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก  นาย Alfredo Perdiguero  ผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมาร์จากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย และนางสาว Khine Khine New เลขาธิการร่วมของสภาหอการค้าและอุตสาหกรรม เมียนมาร์ ซึ่งได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการปฏิรูปและพัฒนาการและโอกาสทางเศรษฐกิจในเมียนมาร์  รวมทั้งการดำเนินการของไทยเพื่อสนับสนุนพัฒนาการในเมียนมาร์และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน  ตลอดจนการดำเนินการของภาครัฐเพื่อส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจในเมียนมาร์สำหรับภาคเอกชนไทย
            ในโอกาสนี้  ผู้เข้าร่วมยังได้รับฟังการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับสถานะล่าสุดของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายโดยนายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  และได้รับฟังการเสวนาในหัวข้อ “โอกาสทางธุรกิจไทยในเมียนมาร์ – เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ”  ซึ่งภาคเอกชนไทยได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโอกาสทางธุรกิจจากการปฏิรูปในเมียนมาร์และเคล็ดลับสู่ความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจในเมียนมาร์ด้วยการสัมมนาครั้งนี้ได้รับความสนใจจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนเป็นอย่างมากโดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า ๓๐๐ คน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ