สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๖

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๖

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ก.พ. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 พ.ย. 2562

| 2,036 view

เมื่อวันอังคารที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๗  เวลา ๑๗.๓๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๖  ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พร้อมทั้งพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลพร้อมคู่สมรส เวลา ๑๙.๓๐ น. ในวันเดียวกัน
ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร

ศ. น.พ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กล่าวประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๖ โดยในสาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ. น.พ. เดวิด ดี. โฮ ชาวสหรัฐอเมริกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์แอรอนไดมอนด์ และ น.พ. แอนโทนี เอส. ฟอซี ชาวสหรัฐอเมริกา ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ รัฐแมริแลนด์ ในผลงานการผลักดันให้ใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวีชนิดผสมหลายตัวในการรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ และการวิจัยกลไกการติดเชื้อเอชไอวีจนนำไปสู่การการใช้ยาต้านไวรัสรักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนในสาขาการสาธารณสุข ได้แก่ บารอนปีเตอร์ ปิย็อต ชาวเบลเยียม ผู้อำนวยการวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน และ น.พ. จิม ยอง คิม ชาวสหรัฐอเมริกา อดีตผู้อำนวยการแผนกเอชไอวี/เอดส์ องค์การอนามัยโลก ในผลงานการรณรงค์ให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นโรคเอดส์ และการผลักดันให้ผู้ป่วยโรคเอดส์ในประเทศรายได้น้อยและปานกลางได้รับการรักษาอย่างทั่วถึง

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสในพิธีพระราชทานรางวัลฯ ใจความหนึ่งว่า การดำเนินงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุข  เกี่ยวกับโรคใดโรคหนึ่งโดยเฉพาะนั้น หากจะให้สำเร็จผลเป็นประโยชน์สูงสุด จะต้องอาศัยปัจจัยสำคัญประกอบพร้อมกันสองส่วน คือการศึกษาวิจัยเพื่อค้นคว้าหาวิธีการบำบัดโรคอย่างมีประสิทธิภาพ กับการบริหารจัดการให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการบำบัดรักษาได้อย่างเท่าเทียมกัน ผลงานของท่านผู้ได้รับพระราชทานรางวัลทั้งสี่ จึงเป็นการสร้างเสริมความเจริญก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ของการแพทย์และการสาธารณสุขทั้งเป็นประโยชน์อันไพศาลแก่มวลมนุษยชาติโดยแท้

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ (Prince Mahidol  Award Foundation) ก่อตั้งขึ้นเนื่องในวโรกาส ๑๐๐ ปี แห่งการเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๕ (ปีแรกที่มีการพระราชทานรางวัล) เพื่อเผยแพร่พระราชเกียรติคุณในฐานะ  “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย” ในทุกปีจะมีการพิจารณาตัดสินรางวัล ๒ รางวัล คือ ๑) สาขาการแพทย์ และ ๒) สาขาการสาธารณสุข เพื่อมอบให้แก่บุคคลหรือองค์กรที่ปฏิบัติงาน และ/หรือวิจัยดีเด่นอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่มนุษยชาติ  ซึ่งรางวัลดังกล่าวประกอบด้วย ๑. ประกาศนียบัตร  ๒. เหรียญรางวัล และ ๓. เงินรางวัล รางวัลละ ๑๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ – ๒๕๕๕ มีจำนวนทั้งสิ้น ๖๓ ราย
  
ภายหลังจากพิธีพระราชทานรางวัลในวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๗ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยผู้ได้รับพระราชทานรางวัลทั้ง ๔ ท่าน เพื่อร่วมพิธีเปิดการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๗ ในวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๗ ณ โรงแรมรอยัลคลิฟ แกรนด์ พัทยา ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๗ – ๓๑ มกราคม ๒๕๕๗ ภายใต้หัวข้อ “การเรียนรู้เพื่อปรับกระบวนทัศน์ สู่ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ” (Transformative Learning for Health Equity) โดยการประชุมนานาชาตินี้ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ     จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อหารือด้านนโยบายการแพทย์และสาธารณสุขในระดับนานาชาติ ร่วมกับแพทย์ชั้นนำและผู้กำหนดนโยบายด้านสาธารณสุขทั่วโลก