การเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย ณ กรุงมัสกัต โอมาน

การเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย ณ กรุงมัสกัต โอมาน

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 มี.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 พ.ย. 2562

| 4,741 view

เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๗ นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับกิจกรรมเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย ณ กรุงมัสกัต ประเทศโอมาน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรมได้นำคณะนาฏศิลป์จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และคณะสาธิตทางวัฒนธรรมไปแสดงที่ประเทศโอมาน ตามโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในกลุ่มประเทศ Gulf Cooperation Council (GCC) ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัต ได้บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการร่วมกัน โดยคณะนาฏศิลป์และคณะสาธิตทางวัฒนธรรมไทยได้แสดงในงานต่าง ๆ  ดังนี้

๑. Muscat Festival 2014 ระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ โดยมีการแสดงหลากหลายรูปแบบทั้งโขนและการแสดงพื้นบ้าน เช่น รำกลองยาว ฟ้อนภูไท เป็นที่ชื่นชอบของผู้เข้าร่วมงานชาวโอมานและชาวต่างชาติ ได้รับการปรบมือด้วยความประทับใจ งาน Muscat Festival เป็นงานแสดงทางศิลปวัฒนธรรมประจำปีของโอมาน จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๑ ระยะเวลาการจัดงานประมาณ ๑ เดือน มีผู้เข้าชมงานตลอดวันประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน ในจำนวนนี้มีผู้เข้าชมการแสดงของไทยกว่า ๓,๐๐๐ คน ซึ่งในปีนี้นอกจากไทยแล้ว ยังมีการแสดงทางวัฒนธรรมของประเทศอื่น ๆ เช่น รัสเซีย เนเธอร์แลนด์ ซาอุดีอาระเบีย และอินเดีย

๒.  งาน Thailand Nights ครั้งที่ ๒ ที่ห้างสรรพสินค้า Muscat Grand Mall ระหว่างวันที่ ๒๓ - ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ การแสดงตลอด ๓ วัน ได้รับความสนใจอย่างมาก ดึงดูดให้ผู้คนที่มาจับจ่ายใช้สอยในห้างแวะชมการแสดงและการสาธิตของไทย ถือเป็นการเสริมสร้างทัศนคติอันดี กระตุ้นความนิยมไทยในหมู่ชาวโอมานอีกทางหนึ่ง

๓.  Ambassadors’ Wives Group (AWG) โดยจัดการแสดงนาฏศิลป์ชุดเล็ก การสาธิตหัตถกรรมไทยสำหรับกลุ่มภริยาเอกอัครราชทูตประเทศต่าง ๆ ประจำโอมาน และให้ฝึกทำด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในวงกว้างมากยิ่งขึ้นในโอกาสนี้ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศย้ำว่าโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างสองกระทรวงในการเผยแพร่ประเทศไทยแบบรอบด้าน โดยนำจุดแข็งที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่มารวมกันเพื่อให้บรรลุประโยชน์และประสบผลสำเร็จสูงสุด กล่าวคือ การแสดงนาฏศิลป์และการสาธิตหัตถกรรมไทยหรือเนื้อหา (content) ซึ่งเป็นจุดแข็งของกระทรวงวัฒนธรรมในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศก็มีสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ประมาณ ๑๐๐ แห่งทั่วโลก จึงสามารถประสานงานและอำนวยความสะดวกตลอดจนหาช่องทางในการเผยแพร่“เนื้อหาทางวัฒนธรรมของไทย” ดังกล่าวสู่สายตาชาวโลก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายด้านการต่างประเทศของไทยที่ไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะด้านการเมือง เศรษฐกิจและการค้า แต่ยังมุ่งเน้นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน (people-to-people) ผ่านการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่วัฒนธรรม (cultural diplomacy) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ นำไปสู่ผลประโยชน์    ด้านการค้า การลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวต่อไป

ทั้งนี้ กลุ่มประเทศ GCC นอกจากจะเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของไทยแล้ว คนชาติของประเทศในภูมิภาค  ยังนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวและรักษาพยาบาลในประเทศไทย เช่น ชาวโอมานเดินทางมาประเทศไทยประมาณ ๗๐,๐๐๐ คนต่อปี ดังนั้น การดำเนินโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมจะช่วยรักษากระแสความนิยมไทยและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงกว้างมากและหลากหลายมิติยิ่งขึ้นด้วย