กรณีเครื่องบินของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์สูญหาย

กรณีเครื่องบินของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์สูญหาย

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 มี.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 พ.ย. 2562

| 2,323 view
ที่ ๕๔/๒๕๕๗
๑.สถานการณ์ล่าสุด
 
๑.๑ เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๗ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียได้ให้สัมภาษณ์ว่า ภาพถ่ายดาวเทียมพาณิชย์เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๗ ได้พบ “วัตถุที่อาจเกี่ยวข้องกับการค้นหา” เครื่องบิน MH 370 จำนวน ๒ ชิ้น ในบริเวณทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากเมืองเพิร์ธไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ๒,๕๐๐ กม. ซึ่งวัตถุชิ้นหนึ่งมีขนาดใหญ่ถึง ๒๔ เมตร อย่างไรก็ตาม ทางการออสเตรเลียยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า วัตถุต้องสงสัยดังกล่าวเป็นชิ้นส่วนของเครื่องบิน MH 370 จนกว่าจะมีการตรวจสอบรายละเอียดต่อไป เนื่องจากอาจเป็นชิ้นส่วนของตู้คอนเทนเนอร์ที่หลุดออกมาจากเรือ
 
๑.๒ กองทัพอากาศออสเตรเลียได้ร่วมกับกองทัพอากาศนิวซีแลนด์ และกองทัพเรือสหรัฐฯ ปฏิบัติการสำรวจค้นหาเครื่องบินในบริเวณมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ตั้งแต่วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๗ แต่ยังไม่พบร่องรอยใด ๆ โดยล่าสุด รัฐบาลจีนได้ส่งเรือรบสนับสนุนการสำรวจในบริเวณดังกล่าวจำนวน ๔ ลำ
 
๑.๓ การปฏิบัติการสำรวจค้นหาตามเส้นทางบินทางเหนือและทางใต้ยังคงดำเนินต่อไป โดยขณะนี้ มีเรือ ๑๙ ลำ เครื่องบิน ๒๙ ลำ และเฮลิคอปเตอร์ ๖ ลำ จากนานาประเทศเข้าร่วมในการปฏิบัติการค้นหาดังกล่าว
และไทยให้การสนับสนุนการปฏิบัติการค้นหาด้วยเครื่องบินทางภาคเหนือของประเทศ
 
๒. การดำเนินการของฝ่ายไทย
 
​๒.๑ เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียได้โทรศัพท์   ถึงรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมทั้งมีหนังสืออย่างเป็นทางการ แจ้งขอรับ
การสนับสนุนและความช่วยเหลือจากประเทศไทยในการปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยเครื่องบิน MH 370 ที่สูญหาย ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งความพร้อมของไทยที่จะให้การสนับสนุนมาเลเซีย โดยจะนำเรื่องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป
 
​๒.๒ กระทรวงฯ ได้มีหนังสือเรียนสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและกองบัญชาการกองทัพไทยเกี่ยวกับคำร้องขอการสนับสนุนและความช่วยเหลือของมาเลเซีย ได้แก่
​       ๑) ข้อมูลปฐมภูมิและเป้าหมายดาวเทียมของเครื่องบินดังกล่าว ณ เวลา ๐๐.๑๑ น. (เวลาท้องถิ่นมาเลเซีย) ของวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๗ ตามเส้นทางการบินทางเหนือและเส้นทางการบินทางใต้
​       ๒) การเริ่มสำรวจและค้นหาทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ
​       ๓) แผนปฏิบัติการค้นหาของศูนย์ประสานงานการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย (Rescue Coordination Centre - RCC) ของแต่ละประเทศ
      ๔) รายงานประจำวันและรายงานสถานะล่าสุดของการปฏิบัติการค้นหา
​       ๕) ข้อมูลด้านความช่วยเหลือจากการปฏิบัติการโดยเครื่องบินและเรือ ตามที่ได้รับการร้องขอ
​       ๖) การอนุญาตให้มีการผ่านน่านฟ้าและน่านน้ำของการปฏิบัติการค้นหาของเครื่องบินและเรือ
ขณะนี้ กระทรวงฯ ได้มีหนังสือแจ้งไปยังกองบัญชาการกองทัพไทยอีกทางหนึ่งด้วยแล้ว ​นอกจากนี้  กระทรวงฯ ได้มีการประสานกับกรมยุทธการทหาร ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของกองทัพในการดำเนินการให้ความช่วยเหลือมาเลเซียกรณีสายการบินมาเลเซียแอรไลน์เพื่อทราบล่วงหน้าในเรื่องข้างต้นด้วยอีกทางหนึ่ง และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์รายงานว่า สำนักงานผู้ช่วยทูตทหาร ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ได้มีการประสานเกี่ยวกับคำร้องขอการสนับสนุนและความช่วยเหลือของมาเลเซียกรณีดังกล่าวกับหน่วยงานต้นสังกัดในกองทัพด้วย
 
๒.๓ เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๗ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มีสารแสดงความเสียใจถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนต่อเหตุการณ์ข้างต้น