วันที่นำเข้าข้อมูล 25 มิ.ย. 2557
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 พ.ย. 2562
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศในฐานะผู้ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานร่วมการหารือระดับรัฐมนตรีเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 เวลา 16.00- 18.00 น. นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานของการประชุมหารือระดับรัฐมนตรี (Ministers Dialogue) ภายใต้หัวข้อ "Most Vulnerable or Most Resilient -The Future Disaster Risk Reduction in Asia-Pacific" ร่วมกับนางมาร์กาเรตา วอห์ลสตรอม ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติด้านการลดความเสี่ยงจากเหตุภัยพิบัติ (Special Representative of the Secretary-General for Disaster Risk Reduction) ในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีแห่งเอเชียว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 6 (The 6th Asian Ministerial Conference on Disaster Risk) ณ ศูนย์การประชุมบางกอก คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ แอท เซนทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ
การประชุมหารือระดับรัฐมนตรีครั้งนี้มุ่งให้รัฐมนตรีจากภูมิภาคหารือกันเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อส่งเสริมความต้านทานต่อภัยพิบัติของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งประสบกับภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อีกทั้งเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติมากที่สุด ดังจะเห็นจากความเสียหายที่เกิดจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางภาคตะวันออกที่ญี่ปุ่น และมหาอุทกภัยของไทย เมื่อปี 2544 ที่สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากถึงร้อยละ 80 ของความสูญเสียทางเศรษฐกิจของจากภัยพิบัติทั่วโลก นอกจากนี้ ยังจะเห็นได้ว่าไม่ว่าประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศกำลังพัฒนาล้วนถูกกระทบจากภัยพิบัติเช่นกัน
การหารือระหว่างรัฐมนตรีครั้งนี้จัดขึ้นในจังหวะที่ดี กล่าวคือนอกจากจะเป็นการให้ข้อคิดเห็นของภูมิภาคต่อการจัดทำกรอบการดำเนินงานเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติฉบับต่อจากกรอบการดำเนินการเฮียวโกะที่จะสิ้นสุดลงในปี 2558 ยังเป็นข้อเสนอที่จะเชื่อมโยงไปสู่การหารือเพื่อจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และการหารือเพื่อจัดทำความตกลงฉบับใหม่ที่จะมีขึ้นต่อจากพิธีสารเกียวโตว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในปี 2558
ในถ้อยแถลงเปิดการประชุม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเน้นความสำคัญของการดำเนินงานด้านภัยพิบัติที่สอดประสานและสอดคล้องกันในการดำเนินงานในกรอบต่างๆ โดยย้ำว่า ในการเสริมสร้างความต้านทานต่อภัยพิบัติของภูมิภาคนั้น ประเทศต่างๆ ต้องจัดการกับประเด็นภัยพิบัติผ่านการดำเนินการด้านการพัฒนา และจำเป็นต้องนำการลดความเสี่ยงต่อภัยพิบัติมาเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาแห่งชาติ นอกจากนั้น ทุกฝ่ายจะต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนในมาตรการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการส่งเสริมความตื่นตัวและกระตุ้นให้ประชาชนในชุมชนเข้าร่วมในการดำเนินการและการวางแผนเพื่อความเสี่ยง ซึ่งในประเทศไทยได้มีการดำเนินการจัดการภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นพื้นฐาน (Community-Based Disaster Risk Management :CBDRM) สำหรับภาคเอกชน ควรได้รับการส่งเสริมและมีส่วนร่วมให้ความช่วยเหลือในความพยายามเสริมสร้างความต้านทานจากภัยพิบัติ ทั้งนี้ การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติมีความสำคัญมากและจำเป็นอย่างยิ่งด้วย เพื่อจะเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การประชุมหารือนี้มีรัฐมนตรีจาก 19 ประเทศ ได้แก่ รัฐมนตรีด้านภัยพิบัติหรือรัฐมนตรีมหาดไทยจากบังกลาเทศ จีน ฟิจิ อินเดีย มาเลเซีย มัลดีฟส์ หมู่เกาะมาร์แชล ศรีลังกา ตูวาลู อัฟกานิสถาน กาตาร์ ทาจิกิสถาน อินโดนีเซีย สปป.ลาว เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ ติมอร์-เลสเต เติร์กเมนิสถาน รวมทั้งเจ้าหน้าที่อาวุโสจากออสเตรเลีย ภูฏาน มองโกเลีย นิวซีแลนด์ เนปาล โอมาน และปากีสถาน
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล saraban@mfa.go.th
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **