วันที่นำเข้าข้อมูล 28 มี.ค. 2558
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 พ.ย. 2562
ตามที่มีการรายงานข่าวโดยสำนักข่าวและ NGOs ต่างๆ เรื่องปัญหาการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงไทย กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนข้อเท็จจริง ดังนี้
รัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการปราบปรามการค้ามนุษย์ และจะดำเนินคดีต่างๆ อย่างถึงที่สุด นายกรัฐมนตรีได้กำหนดให้เรื่องนี้เป็นวาระระดับชาติ ปฏิรูปการทำงานทั้งระบบของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นบูรณาการและรวดเร็ว
ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๘ สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เห็นชอบให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑ เพิ่มอำนาจทางการปกครองให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐในการสั่งปิดหรือพักใช้ใบอนุญาตของสถานประกอบการหรือโรงงานที่เกี่ยวข้องกับคดีค้ามนุษย์ รวมทั้งเพิ่มบทลงโทษต่อผู้กระทำความผิด โดยมีบทเพิ่มโทษที่บัญญัติขึ้นมาใหม่ กรณีที่ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ ๘ – ๑๒ ปี และมีโทษปรับ ตั้งแต่ ๑๖๐,๐๐๐ – ๔๐๐,๐๐๐ บาทหรือจำคุกตลอดชีวิต และในกรณีที่ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต
ในด้านของการสืบสวน DSI ได้เริ่มการสืบสวนเรื่องนี้ก่อนหน้าการรายงานข่าวดังกล่าวแล้วซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังของทางการไทย โดยในพื้นที่อำบนและเกาะเบนจินามีกรณีที่เกี่ยวข้องหลายคดี ซึ่งได้มีการออกหมายจับและจับกุมผู้ต้องหากระทำผิดคดีค้ามนุษย์แล้ว ๓ คน และกำลังสอบสวนผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ ในทุกคดีอยู่ ซึ่งได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว
นอกจากนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ และดำเนินคดีกับนักค้ามนุษย์ ทั้งนายหน้า บริษัทจัดหางานที่ผิดกฎหมาย และสืบสวนขยายผลคดีต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อน ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ก็ได้สืบสวนขยายผลจนสามารถจับกุมคนในขบวนการได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ขอเรียนเพิ่มเติมว่า รัฐบาลได้ริเริ่มการแก้ปัญหาที่รากเหง้าและลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในระยะยาว โดยมาตรการสำคัญที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้วคือ การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวและครอบครัวกว่า ๑.๖ ล้านคน ที่รวมถึงแรงงานส่วนใหญ่ในภาคประมง ซึ่งจะทำให้คนเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย ไม่ถูกเอาเปรียบ
ในส่วนของอุตสาหกรรมประมง ได้เริ่มติดตั้งระบบติดตามเรือ (Vessel Monitoring System – VMS) แล้ว ภายในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๘ จะสามารถติดตั้งในเรือกว่า ๗,๗๔๐ ลำ และจะดำเนินการควบคู่กับการสุ่มตรวจสอบเรืออย่างสม่ำเสมอ รวมถึงใช้ระบบตรวจสอบ Port-in / Port-out ติดตามสวัสดิภาพแรงงานในเรือ และการตรวจสอบแหล่งที่มาของสัตว์น้ำที่จับได้ตลอดสายการผลิต (traceability)
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ รัฐบาลไทยพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยต้องการข้อมูลเบาะแสที่มีความชัดเจนเจาะจงมากที่สุดเพื่อสามารถสืบสวนและนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้โดยเร็ว ภาคส่วนใดที่มีข้อมูลดังกล่าว ไม่ว่าภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงสื่อมวลชน สามารถประสานนำส่งข้อมูลให้รัฐบาลทราบได้เสมอในทุกกรณี
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล saraban@mfa.go.th
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **