ไทยเป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส (Sherpa) ครั้งที่ 2 เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์

ไทยเป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส (Sherpa) ครั้งที่ 2 เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 เม.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 พ.ย. 2562

| 1,267 view

ไทยเป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส (Sherpa) ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 12 – 13 กุมภาพันธ์ 2558 ณ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี กับฝ่ายสหรัฐฯ เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ (Nuclear Security Summit – NSS) ครั้งที่ 4 ซึ่งจะจัดขึ้นในปี ค.ศ. 2016 ณ สหรัฐอเมริกา โดยมีผู้แทนรัฐสมาชิก และองค์การระหว่างประเทศ ในฐานะผู้สังเกตการณ์ เข้าร่วมการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับวิธีการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมความมั่นคงทางนิวเคลียร์ในระดับชาติและระดับโลก ที่จะนำไปสู่การประชุม NSS ปี ค.ศ.  2016 และผลลัพธ์ที่ยั่งยืนต่อไป

ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 นายนรชิต สิงหเสนี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุม โดยกล่าวเปิดงานเลี้ยงอาหารค่ำ ย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันและความร่วมมือระหว่างประเทศในการเสริมสร้างความมั่นคงทางนิวเคลียร์อย่างยั่งยืนต่อไป

ไทยให้ความสำคัญกับการรักษาและเสริมสร้างความมั่นคงทางนิวเคลียร์มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์นับตั้งแต่การประชุมครั้งแรก ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี เมื่อปี 2553 ครั้งที่ 2 ที่กรุงโซล เมื่อปี 2555 และการประชุมครั้งล่าสุด ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อปี 2557 โดยไทยได้นำเสนอและผลักดันประเด็นเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศ การเสริมสร้างศักยภาพของประเทศสมาชิกเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามมาตรการด้านความมั่นคงได้อย่างครบถ้วน และการส่งเสริมความตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในประเด็นความมั่นทางทางนิวเคลียร์

ไทยยังสนับสนุนความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ดังเห็นได้จากบทบาทของไทยในฐานะรัฐสมาชิกของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency – IAEA) การส่งเสริมการปฏิบัติตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ 1540 เกี่ยวกับการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และการเข้าเป็นสมาชิกในกรอบความร่วมมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางนิวเคลียร์ เช่น Global Initiative to Combat Nuclear Terrorism (GICNT) และ Proliferation Security Initiative (PSI) นอกจากนี้ ไทยเป็นประเทศผู้ริเริ่มการจัดตั้งเครือข่ายหน่วยงานกำกับดูแลพลังงานปรมาณูแห่งอาเซียน (ASEANTOM) และยังดำเนินการอย่างแข็งขันร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลพลังงานปรมาณูของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคภายใต้เครือข่ายดังกล่าว เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงทางนิวเคลียร์ต่อไป

ไทยสมัครเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงฯ วาระปี 2560-2561 และมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนงานด้านการส่งเสริมความมั่นคงทางนิวเคลียร์ในกรอบดังกล่าวอย่างเข้มแข็งต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ