การประชุมปฏิบัติการและนิทรรศการระหว่างประเทศเพื่อผลักดันแนวปฏิบัติสหประชาชาติว่าด้วย การพัฒนาทางเลือกสู่การปฏิบัติ หรือ การประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการพัฒนาทางเลือก ครั้งที่ ๒

การประชุมปฏิบัติการและนิทรรศการระหว่างประเทศเพื่อผลักดันแนวปฏิบัติสหประชาชาติว่าด้วย การพัฒนาทางเลือกสู่การปฏิบัติ หรือ การประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการพัฒนาทางเลือก ครั้งที่ ๒

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ธ.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 พ.ย. 2562

| 2,165 view
            รัฐบาลไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิโครงการหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ สถานบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) สถานบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit: GIZ) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการและนิทรรศการระหว่างประเทศเพื่อผลักดันแนวปฏิบัติสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาทางเลือกไปสู่การปฏิบัติ หรือ การประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการพัฒนาทางเลือก ครั้งที่ ๒ (International Conference on Alternative Development –ICAD2) ระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ 
การประชุมแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ การศึกษาดูงานพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง จังหวัดเชียงราย และโครงการหลวงหนองหอย จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งโครงการพัฒนาทางเลือกเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนไทย-เมียนมา บ้านหย่องข่า เมืองสาด รัฐฉาน สหภาพเมียนมา ระหว่างวันที่๑๘ – ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ และการประชุมระดับสูง ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ ๒๓ – ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ อนึ่ง มีผู้เข้าร่วมการศึกษาดูงานรวม ๑๐๙ คน จาก ๒๘ ประเทศ ๑๑ องค์กร และผู้เข้าร่วมการประชุมระดับสูง ๒๔๒ คน จาก ๔๔ ประเทศ ๑๘ องค์กร
 
            การประชุม ICAD2 ต่อยอดจากการประชุม ICAD1 ซึ่งรัฐบาลไทยและเปรูเป็นเจ้าภาพ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๔ และพฤศจิกายน ๒๕๕๕ ตามลำดับ ผลการประชุม ICAD1 นำไปสู่การรับรองแนวปฏิบัติสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาทางเลือก (United Nations Guiding Principles on Alternative Development – UNGPs on AD) โดยสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๖๘ เมื่อปี ๒๕๕๖ การประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ของไทยในการใช้แนวทางการพัฒนาทางเลือกตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสร้างความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนให้แก่เกษตรกร และไม่ให้หันกลับมาปลูกพืชเสพติดอีก อีกทั้งส่งเสริมให้นานาประเทศนำ UNGPs on AD ไปปฏิบัติ และบูรณาการแนวทางการพัฒนาทางเลือกในแผนยุทธศาสตร์พัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ และนำผลการประชุมไปจัดทำเป็นข้อเสนอแนะต่อการประชุมสมัยพิเศษของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก (United Nations Special Session on the World Drug Problem –UNGASS) ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๑ เมษายน ๒๕๕๙ ณ นครนิวยอร์ก
 
            พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุม เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ณ อุทยานศิลปวัฒนธรรม แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย และทรงศึกษาดูงานและทอดพระเนตรโครงการศึกษาและพัฒนา การปลูกชาน้ำมัน ในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่บ้านปางมะหันโครงการพัฒนาดอยตุง จังหวัดเชียงราย และโครงการหลวงหนองหอย จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ต่อมา ทรงเป็นองค์ประธานและมีพระดำรัสในพิธีเปิดการประชุมระดับสูง เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ นอกจากนี้ ทรงเข้าร่วมการอภิปรายในหัวข้อ “หลักนิติธรรมและประเด็นด้านความมั่นคงในบริบทของนโยบายควบคุมยาเสพติดที่ใช้การพัฒนานำ” เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ และยังทรงร่วมการอภิปรายในกิจกรรมคู่ขนาน ในหัวข้อ “หลักนิติธรรมและการพัฒนาทางเลือก : การส่งเสริมหลักนิติธรรมเพื่อบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนในการลดการปลูกพืชเสพติด” จัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และ UNODC 
 
            ที่ประชุม ICAD2 ย้ำถึงความสำคัญของแนวทางการพัฒนาทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่ควรยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงความต้องการที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละพื้นที่ มีความเชื่อมโยงกับมิติด้านการพัฒนาอื่น ๆ อาทิ การขจัดความยากจนและการขาดโอกาสในสังคมสาธารณสุข การศึกษา ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และการเข้าถึงตลาด เป็นต้น โครงการพัฒนาทางเลือกมิได้เห็นผลเพียงแค่ชั่วข้ามคืน หากแต่ต้องใช้เวลาและความพยายาม และความมุ่งมั่นจากทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม การพัฒนาทางเลือกควรเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงควรรวมไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศและรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศให้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
 
            ผลการประชุมในครั้งนี้จะถูกนำเสนอในที่ประชุม reconvened session ของการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด สมัยที่ ๕๘ ในเดือนธันวาคม ๒๕๕๘ เพื่อนำไปใช้เป็นข้อเสนอแนะสำหรับเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสมัยพิเศษของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลกซึ่งกำหนดจะจัดระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๑ เมษายน ๒๕๕๙ ณ นครนิวยอร์ก