วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ธ.ค. 2561
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565
ตามที่ได้รับการสอบถามจากสื่อมวลชนเกี่ยวกับการกักตัวนาย Hakeem Ali Mohamed Ali Al Oraibi บุคคลสัญชาติบาห์เรนโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง นั้น กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติเหตุแวดล้อมที่นำไปสู่การกักตัวบุคคลดังกล่าว สถานะ และกระบวนการปฏิบัติภายใต้บังคับของกฎหมายต่างๆ ของไทย ดังต่อไปนี้
๑. นาย Hakeem Ali Mohamed Ali Al Oraibi ถูกกักตัวโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสุวรรณภูมิเมื่อเดินทางมาถึงจากประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ (ค.ศ. ๒๐๑๘) เวลา ๒๐.๕๐ น. ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ (ค.ศ. ๑๙๗๙) การกักตัวดังกล่าวเป็นไปโดยการตอบสนองต่อการแจ้งหมายแดง ซึ่งได้รับการแจ้งเตือนจากสำนักงานกลางตำรวจสากลแห่งชาติออสเตรเลีย (Interpol National Central Bureau) และคำร้องขออย่างเป็นทางการจากรัฐบาลบาห์เรนเพื่อจับกุมและขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน นาย Hakeem เป็นที่ต้องการของทางการบาห์เรนในฐานะผู้หลบหนีคำพิพากษาในคดีอาญาตามกฎหมายของบาห์เรน
๒. เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๑ (ค.ศ. ๒๐๑๘) ในการติดตามเรื่อง สถานเอกอัครราชทูตบาห์เรนได้นำส่งเอกสารที่ต้องใช้ประกอบคำร้องขอจับกุมชั่วคราวนาย Hakeem (provisional arrest) แก่กระทรวงการต่างประเทศ ต่อมา คำร้องขอจับกุมชั่วคราวได้ถูกส่งให้แก่สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. ๒๕๕๑ (ค.ศ. ๒๐๐๘)
๓. ในระหว่างการรอผลการพิจารณาของศาลต่อคำร้องขอข้างต้น นาย Hakeem ถูกกักตัวไว้ที่สถานกักตัวคนต่างด้าวที่สวนพลูตามบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องของพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ภายใต้กฎหมายไทยศาลเท่านั้นที่มีอำนาจในการตัดสินตามคำร้องขอของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองว่าการกักตัวอาจได้รับการขยายระยะเวลาหรือไม่ หากได้รับอนุญาต ระยะเวลาที่ขยาย จะไม่เกิน ๑๒ วันต่อคำร้องขอแต่ละครั้ง
๔. เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๑ (ค.ศ. ๒๐๑๘) สำนักงานอัยการสูงสุดได้ยื่นคำร้องขอออกหมายจับชั่วคราวต่อศาล ซึ่งต่อมาในวันเดียวกันศาลก็ได้อนุมัติหมายจับชั่วคราว นาย Hakeem ได้รับแจ้งเกี่ยวกับหมายจับชั่วคราวของตนแล้วและจะถูกย้ายไปยังเรือนจำต่อไป
๕. ตามแนวทางของพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดนดังกล่าว สำนักงานอัยการสูงสุดอาจพิจารณายื่นคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อศาลตามคำร้องขอของรัฐบาลบาห์เรนภายใน ๖๐ วันนับตั้งแต่วันที่จับกุม เมื่อศาลรับพิจารณาคำร้องขอดังกล่าวแล้ว ศาลจะดำเนินการตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย รวมทั้งการตรวจสอบคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนอย่างละเอียดถี่ถ้วน ตลอดจนหลักฐานและคำให้การของพยานที่เกี่ยวข้อง นาย Hakeem มีสิทธิในการให้ ข้อคิดเห็น ข้อห่วงกังวล และพยานหลักฐานต่างๆ ต่อศาล
นอกจากนี้ เมื่อศาลชั้นต้น ได้มีคำพิพากษาแล้ว บุคคลที่เกี่ยวข้องยังคงมีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์เพื่อให้พิจารณาและทบทวนต่อไปอีก ถ้าหากมีการอุทธรณ์ การดำเนินคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะถึงที่สุดภายหลังจากที่ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาแล้วเท่านั้น
๖. ประเทศไทยให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และพันธกรณีในฐานะที่เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาและความตกลงระหว่างประเทศ ดังนั้น ก็จักได้นำกรณีดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการของศาล ซึ่งจะพิจารณาตามกระบวนการทางกฎหมายที่ถูกต้องอย่างเคร่งครัด โดยปราศจากอคติ และปราศจากการแทรกแซงใดๆ และสอดคล้องกับแนวปฏิบัติระหว่างประเทศ
๗. แม้ว่าหมายแดงของนาย Hakeem จะถูกถอนออกจากฐานข้อมูลของตำรวจสากล (Interpol) แล้วในภายหลัง แต่กระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้เริ่มต้นขึ้นแล้วนับตั้งแต่ทางการไทยได้รับคำร้องขออย่างเป็นทางการจากรัฐบาลบาห์เรนเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ (ค.ศ. ๒๐๑๘) และการนำส่งต่อมาซึ่งเอกสารต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการออกหมายจับชั่วคราวเมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๑ (ค.ศ. ๒๐๑๘)
๘. แม้ว่าไทยกับบาห์เรนจะไม่มีข้อตกลงทวิภาคีว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน แต่ฝ่ายบาห์เรนสามารถร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดนดังกล่าว ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของหลักประติบัติต่างตอบแทนและความร่วมมือซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในระหว่างประเทศ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล saraban@mfa.go.th
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **