คำกล่าวปาฐกถา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสการประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียน ครั้งที่ 5 หัวข้อ “The Future of Thailand and ASEAN”

คำกล่าวปาฐกถา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสการประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียน ครั้งที่ 5 หัวข้อ “The Future of Thailand and ASEAN”

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 มิ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 พ.ย. 2565

| 776 view

- ร่างคำกล่าว ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2562 / โปรดรอตรวจสอบจากต้นฉบับที่ใช้จริง -

 

คำกล่าวปาฐกถา

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

เนื่องในโอกาสการประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียน ครั้งที่ 5

หัวข้อ “The Future of Thailand and ASEAN

วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน 2562 เวลา 09.00 น.

ณ โรงแรม Waldorf Astoria กรุงเทพมหานคร

 

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

                   = ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมงานการประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียน ครั้งที่ 5 และนำเสนอความคิดเห็นในหัวข้อ “The Future of Thailand and ASEAN ที่สำนักข่าว Bloomberg จัดขึ้น ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมและสำคัญยิ่งต่อประเทศไทยและอาเซียน เนื่องจากประเทศไทยรับหน้าที่ประธานอาเซียนในปีนี้ และจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ในช่วงสุดสัปดาห์นี้

 

          วิสัยทัศน์สำหรับประเทศไทย

 

                   = ประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมในหลายด้าน ที่จะเดินหน้าพัฒนาประเทศไปสู่ความก้าวหน้าพร้อมกับภูมิภาค ซึ่งในปัจจุบัน เหตุการณ์ในประเทศมีเสถียรภาพ โดยไทยได้ก้าวพ้นสถานการณ์ความไม่สงบ มีความปรองดอง และสามารถแก้ปัญหาคั่งค้างที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศหลายประการ ยกตัวอย่างเช่น การประมงผิดกฎหมาย การปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างเป็นระบบ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ เป็นต้น

                   = ที่สำคัญต่อประชาชนชาวไทยมากก็คือ การที่เราได้ผ่านพ้นการเลือกตั้งทั่วไปตามกระบวนการประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อย เป็นไปตาม roadmap ที่กำหนด ซึ่งช่วยให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ และผมยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อ และจะพยายามปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อสืบสานนโยบายพัฒนาประเทศ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

                   = ในปี 2561 ที่ผ่านมา ดัชนีเศรษฐกิจต่าง ๆ ของไทยบ่งชี้ว่า สถานการณ์ในประเทศดีขึ้นมาก เศรษฐกิจขยายตัวได้ร้อยละ 4.1 ถือเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 6 ปี มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ระดับ 2.53 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.8 ซึ่งสูงที่สูดในรอบ 6 ปี เช่นกัน สำหรับภาคการท่องเที่ยวก็เติบโตได้ต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเยือนประเทศไทยถึง 38 ล้านคน ในปี 2561 เพิ่มขึ้น 2.9 ล้านคนจากปีก่อนหน้า และปีนี้คาดว่าเราจะได้ตอนรับนักท่องเที่ยวถึง 40 ล้านคน ซึ่งจะเป็นอีกแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ นอกจากนี้ เสถียรภาพด้านต่างประเทศยังแข็งแกร่ง สะท้อนจากการเกิน ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง และเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงเป็นอันดับ 12 ของโลก
                   
· ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยก็ให้ความสำคัญในการดูแลขั้นตอนกระบวนการอนุญาตต่าง ๆ รวมถึงกฎระเบียบในการทำธุรกิจ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม ซึ่งเป็นที่น่ายินดี ที่ในการจัดอันดับความสะดวกในการประกอบธุรกิจในปี 2561 ของธนาคารโลก ประเทศไทยปรับดีขึ้นมาอยู่อันดับที่ 27 จากทั้งหมด 190 ประเทศ สูงขึ้นจากปีก่อนถึง 19 อันดับ และเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน

                   = และเพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าได้อย่างยั่งยืน ในช่วงที่พัฒนาการทางเทคโนโลยีได้ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจและการเติบโตของประเทศ ไทยจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศให้เอื้อต่อการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมและรองรับอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการเป็นระเบียงเศรษฐกิจแห่งเอเชีย ซึ่งระยะแรก เราได้เร่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก หรือ EEC ให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการผลิต การค้า และการลงทุนในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพอุตสาหกรรม รวมถึงผู้ประกอบการไทยให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าโลกได้ดีขึ้น โดยรัฐบาลเตรียมที่จะใช้รูปแบบการพัฒนานี้ ไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นของประเทศด้วย

                   = ทั้งนี้ เพื่อให้นโยบายในการพัฒนาประเทศมีความต่อเนื่อง ประเทศไทยได้กำหนด “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ขึ้น เพื่อเป็นกรอบในการทำงานและนำพาให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เศรษฐกิจพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สังคมเป็นธรรม ฐานทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน” ที่เป็นเป้าหมายในระยะยาว ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนงานเพื่อขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม และมีนโยบายสนับสนุนที่สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน


          หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

 

                   = อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า แม้ผู้มีรายได้น้อยในประเทศไทยจะลดลงต่อเนื่อง จากร้อยละ 57.07 ของประชากร ในปี 2533 เหลือร้อยละ 7.87 ในปี 2560 แต่ไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศทั่วโลก เราจึงต้องหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนา เพื่อให้การเติบโตของประเทศมีความยั่งยืนและครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร

 

                   = และวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ทำให้ไทยตระหนักว่า การพึ่งพาการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยไม่เร่งสร้างความเข้มแข็งและภูมิต้านทานจากภายใน จะทำให้ประเทศถูกกระทบได้ง่าย ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเข้าใจถึงหัวใจของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างลึกซึ้ง ในเรื่องของการพึ่งพาตนเองภายใต้ความพอประมาณและความมีเหตุผล

                   = ผมจึงต้องการส่งเสริมให้ประเทศไทยเข้มแข็งจากภายใน และพื้นฐานทางเศรษฐกิจมั่นคงที่กระจายไปถึงระดับรากหญ้า โดยภาคเอกชนของประเทศไทยและอาเซียนจะเป็นจุดแข็งที่จะช่วยลดช่องว่างและสร้างการเติบโตไปสู่รากหญ้า ทั้งผู้มีรายได้น้อยและ SMEs และช่วยให้สามารถเชื่อมโยงเข้ากับห่วงโซ่มูลค่าของโลกได้ ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันผลกระทบจากความท้าทายภายนอก ซึ่งเป็นหลักการที่สามารถนำไปปรับใช้ในบริบทการพัฒนาของอาเซียนได้ด้วย

 

          วิสัยทัศน์ต่ออาเซียน/ภูมิภาค

 

                   = โลกปัจจุบัน ต้องเผชิญกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ทั้งความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลก และการแข่งขันช่วงชิงพื้นที่และโอกาสทางเศรษฐกิจในภูมิภาค กรณีที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินไปทั่วโลกในปัจจุบันคงได้แก่ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างมหาอำนาจ ที่ทำลายบรรยากาศการค้าการลงทุนโลกและอาจนำไปสู่สงครามการค้าระหว่างกัน รวมทั้งความท้าทายจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ที่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโลกและการใช้ชีวิตของประชาชนทุกระดับ

                   = ภายใต้ความท้าทายเหล่านี้ ผมมองว่าประเทศไทยและอาเซียนมีศักยภาพสูงที่จะรับมือ และยังสามารถปรับให้เป็นสนามการค้าการลงทุนที่มีเสถียรภาพและตอบโจทย์ให้กับนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งจะช่วยทำให้เรายืนหยัดในการเป็นแกนกลางที่จะสามารถกำหนดพลวัตในภูมิภาคได้ ท่ามกลางการเข้ามามีขยายบทบาทในภูมิภาคของประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่

                   = ทั้งนี้ ด้วยอาเซียนเป็นตลาดขนาดใหญ่อันดับ 6 ของโลก มีประชากรกว่า 650 ล้านคน มีความหลากหลายทางชีวภาพและอยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศสำคัญ ๆ ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพของอาเซียนในการที่จะพัฒนาไปเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 4 ของโลก ภายในปี 2573 รวมถึงอำนาจการต่อรองของภูมิภาคที่จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย  โดยในปี 2560 มูลค่า GDP ของอาเซียนเท่ากับ 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5.3 มูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศเท่ากับ 1.37 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นการเติบโตร้อยละ 11.6 และนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเยือนภูมิภาคนี้ถึง 125.5 ล้านคน ซึ่งไทยถือเป็นที่หมายที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ

                   = นอกจากนี้ อาเซียนยังมีกลไกความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงจุดแข็งที่หลากหลาย ที่สำคัญคือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP  ระหว่าง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และอีก 6 ประเทศคู่เจรจา (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ โดย RCEP จะเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก คือ GDP รวมกันเท่ากับหนึ่งในสามของ GDP โลก เป็นโอกาสให้อาเซียนสามารถเติบโตภายในได้อีกมาก นอกจากนี้ หลายประเทศสมาชิกยังเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานความร่วมมือของภูมิภาค เพื่อพัฒนาห่วงโซ่มูลค่า รวมถึงอาจเป็นโอกาสที่ประเทศสมาชิกอื่น รวมทั้งไทย จะพิจารณาเข้าร่วมเพื่อขยายวงของความร่วมมือออกไปด้วย

                   = ทั้งหมดนี้ สะท้อนว่าอาเซียนมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และแม้หลายประเทศจะมีการเลือกตั้งที่อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่จุดยืนที่จะสนับสนุนกระบวนการของอาเซียนให้ก้าวหน้าต่อไปจะคงเดิม เพราะสมาชิกอาเซียนตระหนักดีว่า อาเซียนที่แข็งแกร่ง คือผลประโยชน์แห่งชาติ

 

ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน

 

                   = ในการรับหน้าที่ประธานอาเซียนในปีนี้ ไทยได้นำเสนอแนวคิดหลัก คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ผ่านความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดกับทั้งมิตรประเทศและประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน จะต้องพัฒนาความร่วมมือภายใต้วิสัยทัศน์ที่มุ่งสู่อนาคตมากขึ้น เพื่อให้พร้อมที่จะเชื่อมโยงระหว่างกันภายในประชาคมและกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคมากขึ้น ให้เป็นอาเซียนที่ไร้รอยต่อ ขับเคลื่อนประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีความเท่าเทียม เคารพในความหลากหลาย และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

                   = ในการนี้ อาเซียนมีเป้าหมายที่จะบรรลุความสำเร็จในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ที่ไทยต้องการผลักดันให้เป็นรูปธรรมภายในปี 2562 ได้แก่ (1) การมุ่งสู่อนาคต คือ ความพร้อมในการเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ ๔  (2) การส่งเสริมความเชื่อมโยงทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนให้ครบทั้ง 10 ประเทศสมาชิก และ (3) การสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจรากหญ้าให้ประชาชนอยู่ดีกินดี โดยจะต้องผลักดันให้อาเซียนเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการขนาดย่อม เล็ก และกลาง ตลอดจนการเชื่อมโยงระบบชำระเงินและธุรกรรมการชำระเงินในสกุลท้องถิ่น โดยล่าสุด อาเซียนได้มีการรับรอง Roadmap เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงและความยั่งยืนทางการเงินในตลาดทุนด้วย

                   = ในการพัฒนาด้านดิจิทัล ไทยมี พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 และมีองค์กรที่ดูแลเรื่องดิจิทัลแบบครบวงจร รวมทั้งอยู่ระหว่างพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น 5G หรือ Big Data หรือ TeleHealth ที่จะช่วยนำบริการทางการแพทย์ไปสู่ชุมชน ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมรองรับการค้าและการผลิตในรูปแบบใหม่ ๆ ให้กับภูมิภาค

                   = นอกจากการพัฒนาด้านดิจิทัลแล้ว ประเทศไทยสนับสนุนแนวคิด Digital and Green ASEAN โดยอาเซียนได้มีการเปิดตัว “กองทุนการเงินสีเขียวของอาเซียน” ภายใต้กองทุนโครงสร้างพื้นฐานอาเซียนเพื่อเป็นช่องทางในการระดมทุนใหม่สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาเซียนได้จัดทำแผนแม่บทด้านดิจิทัลฉบับใหม่ เพื่อรับมือกับประเด็นท้าทายในอนาคต รวมทั้งความมั่นคงไซเบอร์ การพัฒนากำลังคนและฝีมือแรงงาน กฎหมายโครงสร้างพื้นฐาน เมืองอัจฉริยะ รวมถึงการส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืนในภูมิภาค เพื่อให้การพัฒนาเกิดขึ้นในทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืนและทั่วถึง

 

          บทสรุป

 

                   = หลังการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ไทยจะเข้าร่วมการประชุมผู้นำ G20 ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ในฐานะประธานอาเซียน โดยจะย้ำหลักการสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเสรี เปิดกว้าง ครอบคลุม ยั่งยืน และไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ตามแนวคิดหลักของการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทย เพื่อให้เกิดความ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” กับมิตรประเทศนอกภูมิภาค

                   = สำหรับไทยเอง เรามีความพร้อมทั้งในแง่พื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี เสถียรภาพทางการเมืองที่นำไปสู่ความต่อเนื่องของนโยบาย ซึ่งรัฐบาลใหม่ก็พร้อมสานต่อนโยบายที่ได้วางรากฐานไว้                      

                   = สุดท้ายนี้ ผมขอให้ภาคเอกชนเชื่อมั่นและใช้ประโยชน์จากโอกาสและความพร้อมของไทยและอาเซียน ในการขยายโอกาสทางธุรกิจระหว่างกัน โดยไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับหุ้นส่วนภาครัฐและดูแลภาคเอกชน ทั้งในและนอกภูมิภาคบนพื้นฐานของหลักการ 3M คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจ การเคารพซึ่งกันและกัน และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน สำหรับการประชุมในวันนี้ ผมขอให้ประสบความสำเร็จตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ทุกประการนะครับ

                  

ขอบคุณครับ