แนวทางการพิจารณาการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส M และราชการ รหัส F ให้แก่สื่อมวลชนต่างประเทศ

แนวทางการพิจารณาการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส M และราชการ รหัส F ให้แก่สื่อมวลชนต่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ก.พ. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 58,159 view

เพื่อให้สอดคล้องกับระบบการสื่อสารของสื่อมวลชนในระดับสากลที่ได้เปลี่ยนแปลงไป กระทรวงการต่างประเทศจึงปรับปรุงแนวทางการพิจารณาการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวสำหรับสื่อมวลชนต่างประเทศทั่วไป รหัส “M” (Media Visa) และราชการ รหัส “F” (Official Visa) สำหรับสื่อมวลชนทางการของต่างประเทศที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๙๐ วัน ทั้งนี้ คำว่า “องค์กรสื่อมวลชน” ในที่นี้ให้รวมถึง สำนักข่าว/หน่วยงานหรือบริษัทตัวแทนด้านสื่อในรูปแบบเดิมและสื่อออนไลน์ที่มีความน่าเชื่อถือที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งสำนักงานอย่างถูกต้องกับหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ และมีผู้รับชมและผู้ติดตามเป็นจำนวนมากโดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาความเหมาะสมสำหรับผู้สื่อข่าวที่มีสิทธิ์ยื่นขอรับการตรวจลงตรา ดังนี้

๑. ต้องอยู่ในสังกัดหรือว่าจ้างโดยองค์กรสื่อมวลชนที่มีความน่าเชื่อถือซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งสำนักงานอย่างถูกต้องกับหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลในประเทศไทยหรือ
ในต่างประเทศอย่างน้อยเป็นเวลา ๖ เดือน นับถึงวันยื่นขอรับการตรวจลงตรา

๒. ได้รับการว่าจ้างให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชนเท่านั้น โดยไม่ประกอบอาชีพอื่นระหว่างช่วงเวลาที่พำนักในประเทศไทย

๓. ปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนในประเทศไทยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๙๐ วัน และผลิตผลงาน
ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเทศไทยหรือภูมิภาคไม่น้อยกว่า ๑๐ ผลงานต่อปี

๔. ต้องไม่มีผลงานหรือพฤติการณ์ที่น่าเชื่อว่าเป็นเป็นภัยต่อสังคม ความสงบสุขหรือ
ความปลอดภัยของประชาชน หรือเป็นบุคคลที่รัฐบาลต่างประเทศต้องการตัวและ
ได้ออกหมายจับ

๕. ต้องไม่เคยมีประวัติเป็นผู้บิดเบือนข้อมูลในการขอรับการตรวจลงตรา

การพิจารณาอนุมัติการตรวจลงตราอยู่ในดุลยพินิจของกระทรวงการต่างประเทศเป็นรายกรณี

หมายเหตุ

ในกรณีสื่อมวลชนรายใดที่ได้รับการตรวจลงตราแล้ว และต่อมาไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่กับองค์กรสื่อมวลชนตามที่ระบุไว้ตามการขอรับการตรวจลงตรา สื่อมวลชนผู้นั้นต้องดำเนินการยกเลิก
การตรวจลงตรา ใบอนุญาตทำงาน และบัตรผู้สื่อข่าวที่ได้รับกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที

หากสื่อมวลชนไม่สามารถต่ออายุการตรวจลงตราด้วยมีเหตุสุดวิสัย สื่อมวลชนผู้นั้นต้องยื่นขอรับการตรวจลงตราใหม่ทั้งหมด

 

การมีผลบังคับใช้

แนวทางการพิจารณาการตรวจลงตราฉบับนี้ใช้กับสื่อมวลชนที่ยื่นขอรับการตรวจลงตรา   ประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส “M” และ ราชการ รหัส “F” ต่อกระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่วันที่
๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป

 

เอกสารประกอบการพิจารณาการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส “M” และราชการ รหัส “F”

 

๑. สำเนาหนังสือเดินทางของสื่อมวลชน (มีอายุไม่น้อยกว่า ๖ เดือน)

๒. หนังสือรับรองผู้สื่อข่าวที่ยื่นขอรับการตรวจลงตราจากสำนักงานใหญ่ขององค์กรสื่อมวลชนถึงอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ประเทศไทย ระบุข้อมูลดังต่อไปนี้

    ๒.๑ ตำแหน่งของสื่อมวลชน

    ๒.๒ ขอบเขตงานในหน้าที่รับผิดชอบ

    ๒.๓ ระยะเวลาการจ้างงานในประเทศไทย

    ๒.๔ การขอรับประเภทการตรวจลงตรา และ

    ๒.๕ การขอรับใบอนุญาตทำงาน และ/หรือบัตรผู้สื่อข่าว

๓. ประวัติส่วนตัวของสื่อมวลชน (CV)

๔. ข้อมูลองค์กรสื่อมวลชน (company profile)

๕. หลักฐานการจดทะเบียนจัดตั้งองค์กรสื่อมวลชนในไทยหรือในต่างประเทศกับหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแล

๖. สำเนาหนังสือสัญญาการว่าจ้าง (หากมี)

๗. ใบรับรองว่าไม่มีประวัติด้านอาชญากรรมของสื่อมวลชน ออกโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศที่สื่อมวลชนมีถิ่นพำนักถาวร

๘. ผลงานของสื่อมวลชนล่าสุดอย่างน้อย ๑๐ ผลงาน

 

                                                  * * * * *

 

เอกสารประกอบการพิจารณาต่ออายุการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส “M” และราชการ รหัส “F”

 

๑. สำเนาหนังสือเดินทางของสื่อมวลชน (มีอายุไม่น้อยกว่า ๖ เดือน)

๒. หลักฐานการตรวจลงตราที่ได้รับจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

๓. ใบอนุญาตทำงาน

๔. บัตรผู้สื่อข่าว (หากมี)

๕. หนังสือรับรองผู้สื่อข่าวที่ยื่นขอรับการตรวจลงตราจากสำนักงานใหญ่ขององค์กรสื่อมวลชนถึงอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ประเทศไทย ระบุข้อมูลดังต่อไปนี้

    ๕.๑ ตำแหน่งของสื่อมวลชน

    ๕.๒ ขอบเขตงานในหน้าที่รับผิดชอบ

    ๕.๓ ระยะเวลาการจ้างงานในประเทศไทย

    ๕.๔ การขอรับประเภทการตรวจลงตรา และ

    ๕.๕ การขอรับใบอนุญาตทำงาน และ/หรือบัตรผู้สื่อข่าว

๖. ประวัติส่วนตัวของสื่อมวลชน (CV)

๗. ข้อมูลองค์กรสื่อมวลชน (company profile)

๘. หลักฐานการจดทะเบียนจัดตั้งองค์กรสื่อมวลชนในไทยหรือในต่างประเทศกับหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแล

๙. ใบรับรองว่าไม่มีประวัติด้านอาชญากรรมของสื่อมวลชน ออกโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในประเทศที่สื่อมวลชนมีถิ่นพำนักถาวร

๑๐. ผลงานของสื่อมวลชนล่าสุดอย่างน้อย ๑๐ ผลงาน

๑๑. หลักฐานแสดงรายได้และการเสียภาษีในไทยในกรณีที่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศมีเงินได้พึงประเมิน


* * * * *  

กระทรวงการต่างประเทศ

๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔