สาธารณรัฐโตโก

สาธารณรัฐโตโก

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ม.ค. 2553

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 พ.ย. 2565

| 1,699 view


สาธารณรัฐโตโก
Togolese Republic

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อทางการ : สาธารณรัฐโตโก (Togolese Republic)

ข้อมูลทางภูมิศาสตร์
ที่ตั้ง : โตโกตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลตะวันตกของทวีปแอฟริกา มีอาณาเขตทางเหนือติดกับประเทศบูร์กินาฟาโซ ทางใต้ติดกับอ่าวกินี มหาสมุทรแอตแลนติก ทางตะวันออกติดกับประเทศเบนิน ทางตะวันตกติดกับประเทศกานา

พื้นที่ 56,785 ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงโลเม (Lome) ซึ่งเป็นเมืองท่าที่สำคัญด้วย

ประชากร 6.5 ล้านคน (ปี 2551)

ภูมิอากาศ บริเวณชายฝั่งอากาศร้อนชื้น อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 27 องศาเซลเซียส ฤดูฝนมี 2 ช่วง คือเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคมและเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ฝนตกชุกมากบริเวณเทือกเขาในเขตภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ โดยฝนตกเฉลี่ย 875 มิลลิเมตรต่อปี ภาคเหนืออากาศร้อนชื้นและแห้งแล้ง อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 30 องศาเซลเซียส

ภาษาราชการ ฝรั่งเศส (ราชการ)

ศาสนา อิสลาม ร้อยละ 20 คริสต์ ร้อยละ 29 และความเชื่อดั้งเดิม ร้อยละ 51

หน่วยเงินตรา ฟรังก์เซฟา Communauté Financière Africaine Francs (XOF) อัตราแลกเปลี่ยน 1 XOF ประมาณ 0.075 บาท หรือ 1 บาท เท่ากับ 13.33 XOF (ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2551)

ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นประมุขแห่งรัฐ ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี ไม่มีข้อจำกัดจำนวนวาระของการดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ นาย Faure Gnassingbe (ตั้งแต่ 4 พฤษภาคม 2548)
ฝ่ายบริหาร มีนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี เป็นผู้นำรัฐบาล คณะรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี ปัจจุบัน นาย Gibert Fossoun Houngbo ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (ตั้งแต่ 7 กันยายน 2551) รัฐมนตรีต่างประเทศคนปัจจุบันคือ นาย Kofi Esaw
ฝ่ายนิติบัญญัติ ระบบรัฐสภาเดียว ประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภา จำนวน 81 ที่นั่ง ซึ่งทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระ 5 ปี (เลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 14 ตุลาคม 2550)
ฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วยศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา

 

การเมืองการปกครอง

1. การเมืองการปกครอง
1.1 โตโกเป็นดินแดนภายใต้การปกครองแบบอาณานิคมของเยอรมันตั้งแต่ 2427 (ค.ศ.1884) ต่อมาในปี 2457 (ค.ศ.1914) ถูกปกครองโดยกลุ่มประเทศพันธมิตร และในปี 2462 (ค.ศ.1919) ถูกแบ่งสรรเป็นเขตการปกครองของอังกฤษ (British Togoland) และของฝรั่งเศส (French Togo) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ดินแดนโตโกทั้งสองส่วนตกเป็นดินแดนภายใต้การอารักขาของสหประชาชาติ ดินแดนในส่วนการปกครองของอังกฤษหรือ British Togoland ได้รวมกับ Gold Coast และกลายเป็นประเทศกานา ส่วนดินแดนในส่วนการปกครองของฝรั่งเศสหรือ French Togo ได้รับสิทธิในการปกครองตนเองบางส่วนในปี 2499 (ค.ศ.1956) และเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2503 (ค.ศ.1960) ได้เป็นประเทศเอกราชโดยสมบูรณ์ โดยมีนาย Sylvanus Olympio ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนแรก

1.2 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2506 (ค.ศ.1963) ประธานาธิบดี Olympio ถูกกลุ่มทหารที่ก่อการรัฐประหารยิงเสียชีวิต และนาย Nicolas Grunitzky ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทน จนถูกกระทำรัฐประหารโดยไม่เสียเลือดเนื้อ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2510 (ค.ศ.1967) โดยพลเอก Gnassingbe Eyadema และต่อมาในเดือนเมษายนปีเดียวกัน พลเอก Eyadema ได้เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จากนั้น ได้ชนะการเลือกตั้งมาตลอด ตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2522 (ค.ศ.1979)

1.3 ภายหลังจากที่ปกครองอยู่เกือบ 40 ปี ประธานาธิบดี Eyadema เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2548 (ค.ศ.2005) ทำให้การพัฒนาการปกครองในแบบหลายพรรคต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากกลุ่มผู้นำทางการเมืองได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญในทันที และเลือกนาย Faure Gnassingbe ซึ่งเป็นบุตรชายของประธานาธิบดี Eyadema เป็นประธานาธิบดีต่อไปจนกว่าจะครบวาระของอดีตประธานาธิบดี Eyadema แต่การสืบทอดอำนาจดังกล่าวได้ถูกประณามอย่างหนักจากหลายฝ่าย ทั้งในและนอกประเทศ จนทำให้ นาย Gnassingbe ตัดสินใจลงจากตำแหน่งและประกาศให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 เมษายน 2548

1.4 นาย Gnassingbe ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียงกว่าร้อยละ 60 ชัยชนะในครั้งนี้ถูกฝ่ายค้านโจมตีว่ามีการโกงการเลือกตั้ง จนนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงในหลายพื้นที่ แม้ผู้สังเกตการณ์จาก ECOWAS จะประกาศว่าการเลือกตั้งดังกล่าวเป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม ซึ่งฝรั่งเศสเห็นพ้องด้วย แต่สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ไม่ยอมรับผลสังเกตการณ์

1.5 เพื่อเป็นการลดความตึงเครียดทางการเมือง ประธานาธิบดี Gnassingbe ได้แต่งตั้งนาย Edem Kodjo ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำพรรคฝ่ายค้าน (และมีท่าทีให้ความร่วมมือกับพรรครัฐบาลมากกว่าพรรคอื่นมาโดยตลอด) เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2548 แต่พรรคฝ่ายค้านที่สำคัญ ได้แก่ Union des forces de changement (UFC) และ Comite d’action pour le renouveau (CAR) ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมเป็นรัฐบาลเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติภายใต้การนำของนาย Kodjo อย่างไรก็ดี จากความพยายามในการไกล่เกลี่ยของประธานาธิบดี Blaise Compaore ของบูร์กินาฟาโซ พรรคการเมืองต่างๆ ในโตโกจึงได้ลงนามในข้อตกลงทางการเมืองเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2549 จนนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวและประกาศให้มีการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง โดยนาย Yawovi Agboyibo ผู้นำพรรค CAR ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชั่วคราว

1.6 ผลจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2550 พรรครัฐบาล คือ พรรค Rassemblement du people togolais (RPT) ได้รับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และมีอีกเพียงแค่ 2 พรรค คือ พรรค UFC และ พรรค CAR ที่มีที่นั่งในสภาผู้แทนฯ ส่งผลให้สถานการณ์ทางการเมืองมีภาวะที่ดีขึ้น สหภาพยุโรปตกลงที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์และความช่วยเหลือแก่โตโก และเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2550 ประธานาธิบดี Gnassingbe ได้แต่งตั้งนาย Komlan Mally เป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร เนื่องจากเป็นนักการเมืองที่ยังไม่โดดเด่นมากนัก

1.7 หลังจากดำรงตำแหน่งได้เพียงประมาณ 10 เดือน นาย Mally ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2551 และต่อมาประธานาธิบดี Gnassingbe ได้แต่งตั้งนาย Gilbert Fossoun Houngbo ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน โดยที่นาย Houngbo มีพื้นฐานด้านการบัญชี เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานแอฟริกาของ UNDP และไม่สังกัดพรรคใด เป็นที่วิเคราะห์กันว่าการแต่งตั้งนาย Houngbo เป็นไปเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับรัฐบาล โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศผู้ให้ และเพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ด้านการปฏิรูปของประธานาธิบดี Gnassingbé ที่เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในปี 2553

1.8 ปัจจุบันสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่สงบดีนัก ล่าสุด เมื่อเดือนเมษายน 2552 มีการปะทะกันระหว่างทหารสองกลุ่มในบริเวณใกล้เคียงกับที่พักอาศัยของนาย Kpatcha Gnassingbé ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของประธานาธิบดี Faure Gnassingbe และเป็นคู่แข่งทางการเมืองคนสำคัญ จนนำไปสู่การจับกุมนาย Kpatcha Gnassingbé ในความผิดฐานพยายามก่อรัฐประหาร ได้ที่หน้าประตูสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ เนื่องจากนาย Kpatcha Gnassingbé ได้พยายามขอลี้ภัยกับสหรัฐฯ แต่ได้รับการปฏิเสธ

2. เศรษฐกิจ
2.1 เศรษฐกิจของโตโกต้องพึ่งพาเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ และเป็นเกษตรกรรมที่มีผลิตผลเพียงพอเฉพาะบริโภคภายในประเทศ โดยแรงงานประมาณร้อยละ 65 อยู่ในภาคเกษตรกรรม โกโก้ กาแฟ และฝ้ายเป็นสินค้าส่งออกหลักที่สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศถึงร้อยละ 30 และโตโกเป็นประเทศที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในเรื่องอาหาร หากการเก็บเกี่ยวเป็นไปตามฤดูกาล ในภาคอุตสาหกรรม การทำเหมืองฟอสเฟตเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุด แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากราคาฟอสเฟตโลกที่ตกต่ำและมีการแข่งขันจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ โตโกยังเป็นศูนย์กลางทางด้านพาณิชย์และการค้าในภูมิภาคด้วย รัฐบาลโตโกได้พยายามดำเนินมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจ และจูงใจให้มีการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งการจัดเก็บรายได้ของรัฐให้สอดคล้องกับรายจ่าย โดยได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

2.2 ความไม่สงบทางการเมือง รวมทั้งการนัดหยุดงานของภาครัฐและเอกชนในช่วงปี 2535 – 2536 ส่งผลกระทบต่อโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมทั้งกิจกรรมเศรษฐกิจที่สำคัญด้านอื่นๆ การลดค่าเงินถึงร้อยละ 50 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2537 เป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้มีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ประกอบกับการต่อสู้ทางการเมืองต่างๆ ได้เริ่มสงบลง ความคืบหน้าในการปฏิรูปเศรษฐกิจยังขึ้นอยู่กับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ยังดำเนินการอยู่ รวมทั้งความโปร่งใสของรัฐบาล โดยเฉพาะการจัดสรรเงินในเรื่องสวัสดิการสังคม การลดขนาดของกองทัพ ซึ่งรัฐบาลยังต้องพึ่งพาเพื่อความอยู่รอดของตนเอง

3. นโยบายต่างประเทศ
3.1 โตโกเคยมีปัญหาขัดแย้งกับกานา จากการที่กานาพยายามจะรวมโตโกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกานา และเมื่อความพยายามดังกล่าวไม่สำเร็จ กานาได้ตอบโต้โดยการคว่ำบาตรทางการค้าและการปิดชายแดน ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศได้เสื่อมถอยลงในช่วงทศวรรษปี 1990 เมื่อบรรดาผู้นำฝ่ายค้านของโตโกลี้ภัยไปอยู่กานา ซึ่งสร้างความหวาดระแวงสงสัยให้รัฐบาลโตโกว่ากานาให้ความสนับสนุนกลุ่มฝ่ายค้านดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในปี 2537 ความสัมพันธ์กับกานาดีขึ้นมากและได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากความสัมพันธ์หยุดชะงักในปี 2525 โดยกานาได้แต่งตั้งเอกอัครราชทูตมาประจำโตโก และได้มีการเปิดชายแดนระหว่างกันอีกครั้ง หลังจากนั้น ได้มีการลงนามในพิธีสารการไม่รุกรานกันของประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) รวมทั้งมีการลงนามในความตกลงในการจัดตั้งคณะกรรมาธิการปักปันเขตแดนกานา – โตโกด้วย

3.2 สำหรับความสัมพันธ์กับเบนิน มีปัญหากันบ้างจากปัญหาการลักลอบขนสินค้าและการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของผู้ลี้ภัย และมีการปิดชายแดนบ่อยครั้ง ในช่วงกลางปี 2536 มีผู้ลี้ภัยชาวโตโกในเบนินถึง 100,000 คน อย่างไรก็ตาม ในเดือนสิงหาคม 2538 โตโกได้ลงนามในความตกลงกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ให้ผู้ลี้ภัยชาวโตโกเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาเดิม

3.3 โตโกมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับฝรั่งเศส แต่ผู้นำของโตโกก็พยายามรักษาความสัมพันธ์ไม่ให้ใกล้ชิดหรืออยู่ภายใต้อิทธิพลของฝรั่งเศสมากนัก โดยโตโกยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของกลุ่มเศรษฐกิจของประเทศที่พูดภาษาฝรั่งเศสในแอฟริกา โดยเข้าร่วมเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ แต่เป็นสมาชิกในสนธิสัญญาการป้องกันประเทศ (defence pact)

3.4 นอกจากนี้ โตโกยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเยอรมัน ซึ่งเคยเข้ายึดครองโตโกเป็นอาณานิคมจนถึงปี 2461 โดยเยอรมันเป็นประเทศผู้ให้ที่สำคัญของโตโกด้วย โดยเฉพาะในโครงการพัฒนาต่างๆ แต่เยอรมันได้นำเงื่อนไขในการให้ความช่วยเหลือมาเกี่ยวข้องกับขบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในโตโกด้วย

3.5 โตโกเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM) สหภาพแอฟริกา (AU) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแอฟริกาแห่งสหประชาชาติ (UNECA or ECA) ประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) สหพันธ์เศรษฐกิจและการเงินแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (UEMOA) และเป็นรัฐ ACP ของสหภาพยุโรป

 

 

 

 

เศรษฐกิจการค้า

ข้อมูลเศรษฐกิจทั่วไป

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

รายได้ประชาชาติต่อหัว 397 ดอลลาร์สหรัฐ

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 1.1

 

 

 

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐโตโก

1. ความสัมพันธ์ทั่วไป
1.1 การทูต
ประเทศไทยและโตโกได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2529 (ค.ศ.1986) โดยไทยเคยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลากอส สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย มีเขตอาณาครอบคลุมโตโก แต่ภายหลังจากปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลากอสเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2539 ไทยได้ให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีสเป็นจุดติดต่อ และในปัจจุบันได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศโตโก ส่วนโตโกยังมิได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตแห่งใดมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย

1.2 เศรษฐกิจ
1.2.1 การค้า
ความสัมพันธ์ระหว่างกันโดยทั่วไปราบรื่นและไม่มีปัญหาระหว่างกัน ความสัมพันธ์จะเน้นไปในทางการค้ามากกว่า โดยโตโกเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยประเทศหนึ่งในภูมิภาคแอฟริกาและไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามาโดยตลอด จากข้อมูลปี 2551 มูลค่าการค้าระหว่างกันมีจำนวน 184.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนี้ ไทยส่งออกจำนวน 172.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากโตโกจำนวน 12.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้เปรียบดุลการค้าจำนวน 160.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปโตโก ได้แก่ ข้าว ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าปักและลูกไม้ และตาข่ายจับปลา ส่วนสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากโตโก ได้แก่ เส้นใยใช้ในการทอ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ
1.2.2 การลงทุน
ยังไม่ปรากฏข้อมูลการลงทุนระหว่างกัน

1.2.3 การท่องเที่ยว
ในปี 2551 มีนักท่องเที่ยวชาวโตโกเดินทางมาไทยจำนวน 352 คน

1.3 ความร่วมมือทางวิชาการ
โตโกเป็นประเทศที่ไทยกำหนดให้อยู่ในโครงการความช่วยเหลือในรูปทุนการศึกษา/ฝึกอบรมและดูงานในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาที่ไทยมีความชำนาญและเป็นที่ต้องการของประเทศกำลังพัฒนา ได้แก่ สาขาการเกษตร สาธารณสุขและการศึกษา

2. ความตกลงที่สำคัญ ๆ กับไทย
ไม่มีความตกลงใดๆ ระหว่างกัน

3. การเยือนที่สำคัญ
ไม่มีการเยือนระหว่างกัน

********************************

พฤศจิกายน 2552

กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5000 ต่อ 2038 E-mail : southasian04@mfa.go.th