สาธารณรัฐซูดาน( not use )

สาธารณรัฐซูดาน( not use )

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ม.ค. 2553

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 พ.ย. 2565

| 4,441 view


สาธารณรัฐซูดาน( not use )
Republic of the Sudan

ข้อมูลทั่วไป

ข้อมูลทางภูมิศาสตร์
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ระหว่างภูมิภาคแอฟริกาและตะวันออกกลาง และมีพรมแดนติดกับอียิปต์ ลิเบีย ชาด สาธารณรัฐแอฟริกากลาง เอริเทรียเอธิโอเปีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ยูกันดา และเคนยา

พื้นที่ 2,505,810 ตารางกิโลเมตร (967,493 ตารางไมล์) เป็นประเทศใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา

เมืองหลวง กรุงคาร์ทูม (Khartoum)

ประชากร 39.4 ล้านคน

ภูมิอากาศ ร้อนแห้งแล้งแบบทะเลทราย

ภาษา อาราบิกเป็นภาษาราชการ ภาษาอังกฤษและภาษาท้องถิ่นอื่นๆ

ศาสนา มุสลิม (ซุนหนี่) 70% คริสเตียน 5% และอื่น ๆ 25%

ระบอบการเมือง ระบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาล

ประมุขแห่งผู้นำฐบาล Field Marshal Omar Hasan Ahmadal- Bashir (ประธานาธิบดี)

ประวัติศาสตร์โดยสังเขป

ตั้งแต่ก่อนคริสตกาลดินแดนซูดานเดิมเป็นที่ตั้งของแคว้นนูเบีย และปกครองโดยระบอบกษัตริย์ ชนพื้นเมืองดั้งเดิมเลี้ยงชีพด้วยการล่าสัตว์ จับปลา ภายหลังจึงเริ่มทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ในศตวรรษที่ 6 แคว้นนูเบียได้แบ่งดินแดนออกเป็น 3 เมือง ประกอบด้วย Nobatia อยู่ทางตอนเหนือปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของอียิปต์ Muqurra ปัจจุบันอยู่บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของซูดาน และ Alawa (Alodia) ปัจจุบัน คือ บริเวณกรุงคาร์ทูม โดยกษัตริย์นูเบียที่ปกครองทั้งสามดินแดนนี้นับถือศาสนาคริสต์ ในศตวรรษที่ 7 ชาวอาหรับเริ่มเข้ามาทำการค้าโดยเฉพาะงาช้างและแรงงานทาส ดินแดนแถบนี้จึงได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลามมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการแต่งงานระหว่างพ่อค้าชาวอาหรับและชนพื้นเมืองจำนวนมาก และทำให้กษัตริย์นูเบียในสมัยต่อมานับถือศาสนาอิสลาม ส่วนประชากรนั้นเป็นมุสลิมโดยกำเนิด โดยประชากรเมือง Makuria นับถือศาสนาคริสต์ ส่วนเมือง Nobatia และ Alodia นับถือศาสนาอิสลาม ต่อมามีการก่อกบฏภายในราชวงศ์กันเอง ประกอบกับมีผู้รุกรานชาว Funj ที่เป็นทุสลิมเข้าบุกรุกพื้นที่ส่งผลให้การปกครองของนูเบียอ่อนแอลง และในปี 2363 นาย Mohammad Ali Pasha ผู้นำชาวอียิปต์ได้บุกโจมตีและสามารถยึดครองแคว้นนูเบียหรือบริเวณตอนเหนือของซูดานได้สำเร็จ อียิปต์ได้เข้ามาพัฒนาพื้นที่โดยเฉพาะในด้านระบบชลประทานและริเริ่มการปลูกฝ้าย

ประเทศมหาอำนาจเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในซูดานในปี 2422 และอังกฤษได้เข้ามาปกครองซูดานในปี 2425 โดยมอบหมายให้รัฐบาล Khedival เข้าปกครองซูดาน แต่ด้วยการบริหารงานที่ผิดพลาด ตลอดจนการคอร์รัปชั่นทำให้ชาติตะวันตกเริ่มต่อต้านระบบการค้าทาส และทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในเวลาต่อมา ด้วยเหตุนี้การเสื่อมถอยของระบบการปกครองเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการสร้างกองกำลัง Mahdist นำโดยนาย Muhammad Ahmak ibn Abd Allah โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปฏิวัติต่อต้านรัฐบาลและขับไล่ชาวตะวันตกออกจากพื้นที่ และในปี 2428 นาย Mahdi ได้ขับไล่ชาวอิยิปต์และอังกฤษได้สำเร็จและก่อตั้งระบอบ Mahdiyah (Madihst regime) ซึ่งสนับสนุนให้ประชาชนนับถือศาสสนาอิสลาะและยินดีใช้หลักกฎหมายอิสลามในการปกครองประเทศ หลังจากที่ปกครองซูดานได้ไม่นานนาย Mehdi ล้มป่วยและเสียชีวิตลง

หลังจากนั้นไม่นาน อังกฤษตัดสินใจเข้ายึดครองซูดานอีกครั้ง และ สนับสนุนให้เกิดกองกำลัง Anglo-Egyptian นำโดย Herbert Kitchener เพื่อทำลายอำนาจของระบอบ Mahdist ในปี 2442 ซูดานได้ลงนามในความตกลง Anglo-Egyptian ยินยอมให้อังกฤษเข้ายึดครองดินแดน และให้อียิปต์เป็นผู้คัดเลือกผู้นำชาวซูดาน อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจต้องได้รับความเห็นชอบจากอังกฤษ

ชาวซูดานไม่ต้องการอยู่ภายใต้อาณานิคมอังกฤษและพยายามเรียกร้องเอกราช ทำให้ในปี 2467 อังกฤษจึงมีนโยบายแบ่งแยกการปกครองซูดานใต้ออกจากซูดานเหนือ และ หลังจากเกิดการปฏิวัติในอียิปต์ อียิปต์และฝรั่งเศสจึงยินยอมให้ซูดานเป็นเอกราชในวันที่ 1 มกราคม 2499 ภายใต้การใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ผ่านการให้สัตยาบันในปี 2497 การปกครองภายหลังจากได้รับเอกราช รัฐบาลปกครองโดยระบบทหารและประชาธิปไตย และมีผู้นำทางการเมืองมาจากภาคเหนือของประเทศซึ่งเป็นชาวมุสลิม และเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งอันยาวนานระหว่างซูดานเหนือและซูดานใต้กว่า 17 ปี เนื่องจากชาวซูดานใต้ไม่ต้องการอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองโดยชาวมุสลิมทางซูดานเหนือ

ความขัดแย้งแระหว่างซูดานเหนือและซูดานใต้ นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2499 ซูดานตกอยู่ภายใต้ภาวะสงครามกลางเมืองมาโดยตลอด สงครามกลางเมืองช่วงแรกสิ้นสุดลงเมื่อปี 2515 ถัดมาอีก 11 ปี สงครามกลางเมืองครั้งที่สองก็เริ่มขึ้นใหม่ในปี 2526 เนื่องจากรัฐบาลซูดานภายใต้การนำของประธานาธิบดี Gaafar Nimeiry ประกาศใช้กฎหมายอิสลาม (Sharia Law) เพื่อบริหารประเทศรวมทั้งซูดานตอนใต้ ทำให้ชาวซูดานตอนใต้ที่ส่วนใหญ่เป็นนับถือศาสนาคริสต์และความเชื่อดั้งเดิม รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกองกำลังต่อต้าน เรียกว่า Sudan People’s Liberation Movement (SPLM) นำโดยนาย John Garang และปฏิเสธที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลนาย Nimeiry และทำสงครามต่อต้านรัฐบาลมาเป็นเวลายาวนานกว่าสองทศวรรษ ส่งผลให้เกิดผู้พลัดถิ่นกว่า 4 ล้านคน และเสียชีวิตอีก 2 ล้านคน จนในที่สุดเมื่อเดือนมกราคม 2548 ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุความตกลงสันติภาพแบบเบ็ดเสร็จ (Comprehensive Peace Agreement: CPA)[1] ระหว่างกัน ฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ตกลงให้มีการตั้งโครงสร้างการปกครองที่ทั้งสองฝ่ายมีส่วนร่วม เช่น ให้ผู้นำของ SPLM เป็นรองประธานาธิบดีคนที่หนึ่ง จัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่างพรรค National Congress Party (NCP) ของรัฐบาลและกลุ่ม SPLM ภายใต้ชื่อ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (Government of National Unity: GNU) แบ่งรายได้จากการส่งออกน้ำมันระหว่างฝ่ายเหนือและใต้ในอัตราส่วนร้อยละ 50:50 และให้ฝ่ายใต้มีอำนาจปกครองตนเอง (autonomy) เป็นเวลา 6 ปี ก่อนจะให้ประชาชนลงประชามติเลือกอนาคตของตนเองในปี 2554

ความขัดแย้งในดินแดนดาร์ฟูร์ ในปี 2546 ความขัดแย้งในดินแดนดาร์ฟูร์ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของซูดานได้ปะทุขึ้น เนื่องจากกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐบาลซูดาน โดยได้โจมตีสถานที่ราชการต่าง ๆ โดยกลุ่มต่อต้านนี้ประกอบไปด้วย 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่ม Sudan Liberation Army (SLA) และกลุ่ม Justice and Equality Movement (JEM) รัฐบาลได้ตอบโต้โดยส่งกองทหารเข้าไปโจมตีกลุ่มต่อต้านดังกล่าว และเหตุการณ์ความขัดแย้งทวีความตึงเครียดมากขึ้นเมื่อกองกำลังติดอาวุธ Janjaweed ซึ่งเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบในบริเวณดินแดนดาร์ฟูร์และฝั่งตะวันออกของชาด ได้เข้าร่วมโจมตีกลุ่มต่อต้านอื่นๆ ในดินแดนดาร์ฟูร์ รวมทั้งเข้าไปโจมตีหมู่บ้าน สังหารชาวซูดาน กระทำชำเราผู้หญิงและลักทรัพย์ การประทะกันระหว่างกลุ่มต่อต้านรัฐบาลกับรัฐบาลซูดานตลอดช่วงที่ผ่านมาทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วถึง 300,000 คน โดยส่วนมากเกิดจากการขาดอาหารและการเจ็บป่วย และอีกกว่า 2.7 ล้านคนที่พลัดที่อยู่อาศัย

ในช่วงกลางปี 2547 สหประชาชาติ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปต่างเรียกร้องให้ซูดานพยายามระงับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในดาร์ฟูร์ และรัฐบาลซูดานได้ให้คำมั่นสัญญาแก่สหประชาชาติว่าจะแก้ไขปัญหาความขัดแยง แต่สถานการณ์ต่างๆ กลับทวีความรุนแรงขึ้น สหประชาชาติจึงส่งคณะเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจพื้นที่เพื่อประเมินความรุนแรงของสถานการณ์ และในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) รับรองข้อมติ UNSC ที่ 1564 (2006) มอบหมายให้กองกำลังสหภาพแอฟริกาที่รับผิดชอบภารกิจสหภาพแอฟริกาในซูดาน (African Union Mission in Sudan: AMIS) เข้าไปดูแลความมั่นคงและรักษาความปลอดภัยในดินแดนดาร์ฟูร์ แต่ภารกิจดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้นและขยายตัวไปยังพรมแดนระหว่างดาร์ฟูร์และชาด ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างชาดและซูดานเลวร้ายลง เพราะต่างฝ่ายเชื่อว่ารัฐบาลของฝ่ายตรงข้ามให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏในชาติของตน จนเกิดการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปี 2549 นอกจากนี้ ความรุนแรงได้เพิ่มความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเมื่อกลุ่ม Lord’s Resistance Army (LRA) ที่ก่อความไม่สงบในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเข้าร่วมโจมตีกลุ่ม SPLA ในขณะที่กลุ่มต่อต้าน LRA ในยูกันดาและรัฐบาลคองโกได้ให้ความช่วยเหลือทางทหารกับ SPLA

จากสถานการณ์ที่เลวร้ายลงส่งผลให้ที่ประชุม UNSC พิจารณารับรองข้อมติ UNSC ที่ 1769 (2007) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2550 จัดตั้งภารกิจรักษาสันติภาพผสมระหว่างสหภาพแอฟริกาและสหประชาชาติในดาร์ฟูร์ (AU/UN Hybrid Operation in Darfur: UNAMID) เพื่อรักษาความสงบในดาร์ฟูร์ ดูแลปกป้องพลเรือน ชาวดาร์ฟูร์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่สหประชาชาติให้อยู่ในความปลอดภัย การเข้าวางกำลังของภารกิจ UNAMID ทำให้สถานการณ์ในดาร์ฟูร์ทรงตัว แต่การโจมตีกลุ่มต่าง ๆ เกิดเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นการปะทะกันระหว่างกองกำลังของรัฐบาลกับกลุ่มต่อต้าน การโจมตีและปล้นยานพาหนะและทรัพย์สินขององค์การให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต่างๆ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความพยายามในการเจรจาสันติภาพระหว่างฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มกบฏ โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2550 ลิเบียพยายามจัดการเจรจาสันติภาพที่เมือง Sirte ในลิเบีย แต่ประสบความล้มเหลว เนื่องจากกลุ่มกบฏต่างๆ ไม่ยอมรับลิเบียซึ่งถูกมองว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลของประธานาธิบดี Omar Hassan Ahmed al-Bashir และระหว่างวันที่ 11-14 กุมภาพันธ์ 2552 นาย Khalil Ibrahim ผู้นำ JEM กับ นาย Nafie Ali Nafie ที่ปรึกษาคนสนิทของนาย Bashir ได้พบหารือกัน ณ กรุงโดฮา เพื่อเจรจาหาทางยุติความขัดแย้งในดาร์ฟูร์ และทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงสันติภาพว่าด้วย การยุติการใช้ความรุนแรงอย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมากลุ่ม JEM กล่าวหารัฐบาลซูดานว่าไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงและทั้งสองฝ่ายหันกลับมาปะทะกัน โดยในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่ม JEM เริ่มการสู้รบเพื่อแย่งยึดพื้นที่ในดาร์ฟูร์ตะวันตกกับกองทัพของรัฐบาล ความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่งผลให้มีการผลักดันการเจรจาสันติภาพกันอีกครั้ง

บทบาทของประธานาธิบดี Omar Hasan Ahmadal- Bashir ในปี 2532 Lt. Gen Omar Hassan Ahmed al-Bashir ซึ่งเป็นผู้นำทหารกลุ่ม Islamist ได้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากนาย Nimeiry และจัดตั้งแนวร่วมอิสลามมิกแห่งชาติ (National Islamic Front) โดยให้การสนับสนุนกลุ่มอิสลามมิกหัวรุนแรงในแอลจีเรียและการรุกรานคูเวตโดยอิรัก ทำให้กรุง Khartoum ถูกจับตามองว่าเป็นฐานกำลังทหารของกลุ่มอิสลามิกหัวรุนแรงและผู้ก่อการร้ายอย่าง Osama Bin Laden’s al Qaida ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งให้ที่หลบภัยแลกกับการให้หารสนับสนุนทางการเงินกับรัฐบาล ในปี 2539 สหประชาชาติได้ทำการคว่ำบาตรซูดานในฐานะที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบสังหารนาย Mubarak ประธานาธิบดีของอียิปต์

ปัจจุบันนาย Bashir ยังคงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนปัจจุบันของซูดานและรัฐบาลของนาย Bashir กำลังเผชิญหน้ากับความมั่นคงทางการเมือง เนื่องจากปัญหาในดินแดนดาร์ฟูร์ส่งผลกระทบต่อ ซูดานทั้งประเทศ นอกจากนี้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างซูดานเหนือและซูดานใต้ ยังส่งผลต่อการจัดการทรัพพยากรน้ำมันที่เป็นรายได้หลักของประเทศ

นโยบายปัจจุบันของรัฐบาลนาย Omar al-Bashir เน้นประชานิยมในภาคเหนือ ซึ่งเป็นฐานเสียงของนาย Bashir โดยทางการจะดำเนินการให้ทุนสนับสนุน และตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญๆแก่หัวหน้าพรรคการเมืองที่สำคัญๆ ทั้งนี้นโยบายของรัฐบาลยังเน้นไปที่การให้ผลประโยชนืแก่กลุ่มทางธุรกิจ กองกำลังทหารและด้านความมั่นคงเป็นหลัก

จากความขัดแย้งในดาร์ฟูร์ส่งผลให้นาย Bashir ถูกคณะผู้พิพากษาศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) พิจารณาออกหมายจับพิพากษาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2552 โดยมีความผิดตามคำฟ้องจำนวน 7 ข้อหา ในความผิดฐานก่ออาชญากรรมสงคราม และการกระทำอันเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (war crimes and crimes against humanity)

การประกาศออกหมายจับนี้สร้างความไม่พอใจให้แก่รัฐบาลซูดานและประชาชนที่สนับสนุนนาย Bashir และเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2552 รัฐบาลซูดานได้ตอบโต้โดยการขับไล่เจ้าหน้าที่ขององค์กรระหว่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม จำนวน 13 องค์กร ออกจากซูดาน และประกาศเป้าหมายจะขับไล่องค์กรพัฒนาเอกชนที่เหลืออีก 73 หน่วยงานออกจากซูดานภายใน 1 ปี ทางด้านสหภาพแอฟริกา (African Union) สันนิบาตอาหรับ (The Arab League) และองค์การการประชุมอิสลาม (Organization of Islamic Conference: OIC) รวมทั้ง NAM ต่างไม่เห็นด้วยกับการออกหมายจับนี้ (แม้ว่าจะมีบางประเทศในกลุ่ม NAM ออกมาไม่เห็นด้วยกับท่าทีดังกล่าว โดยเฉพาะบอตสวานา)

 

การเมืองการปกครอง

นโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบัน
1. การเมืองการปกครอง
ซูดานมีรูปแบบการปกครองแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาล โครงสร้างการปกครองแบ่งเป็น ฝ่ายบริหารโดยคณะรัฐมนตรี มีประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ใช้ระบบสองสภา ประกอบด้วยสภาสูง หรือคณะมนตรีแห่งรัฐ (Council of States) มีสมาชิก 50 คน ได้รับการเลือกตั้งจากรัฐทั้ง 25 รัฐ รัฐละ 2 คน และสภาล่าง หรือ สมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) มีสมาชิก 450 คน แต่งตั้งโดยประธานาธิบดี จากภาคส่วนต่างๆ ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายต่อต้านเดิม และอื่นๆ มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี และคณะมนตรีแห่งชาติ (Council of States) มีสมาชิก 50 คน (มาจากแต่ละรัฐ รัฐละ 2 คน) มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี จนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไป เดิมทีมีกำหนดการในเดือน กรกฏาคมปี 2552 นี้ แต่ด้วยเหตุการณ์ความรุนแรงในดาร์ฟูร์ ส่งผลให้รัฐบาลต้องทำการเลื่อนกำหนดการเลือกตั้งไปเป็นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2553 นอกจากนี้ ในปี 2554 ซูดานจะจัดการลงประชาใต้ (referendum) เพื่อให้ปะชาชนสามารถกำหนดระบบการปกครองตนเอง (autonomous)

2. ด้านเศรษฐกิจและสังคม
ซูดานเป็นประเทศที่มีฐานะยากจน และมีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากที่สุดในแอฟริกา โดยแบ่งเป็น 2 เชื้อชาติหลัก ได้แก่ อาหรับและแอฟริกันผิวดำ โดยประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในปี 2542 มีการค้นพบแหล่งน้ำมัน ทำให้รัฐบาลเริ่มประกอบอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมัน และสามารถทำรายได้เข้าประเทศ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย การเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำมันนี้ทำให้ซูดานได้รับความสนใจจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก และบริษัทต่างชาติจำนวนมากประสงค์เดินทางมาเยือนซูดาน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในด้านกิจการน้ำมันในซูดาน โดยขณะนี้ จีน แคนาดา และมาเลเซีย ได้ร่วมลงทุนสร้างท่อส่งน้ำมันในซูดานแล้ว

เศรษฐกิจของซูดานได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองทำให้สาธารณูปโภคถูกทำลาย การบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจที่ผิดพลาด และการที่มีประชากรผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยกว่า 4 ล้านคนอยู่ในประเทศ อย่างไรก็ตาม หลังจากสงครามระหว่างซูดานเหนือและซูดานใต้สิ้นสุดลง เศรษฐกิจของซูดานเติบโตขึ้นเป็นสองเท่าภายในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา

แม้สหประชาชาติจะจัดซูดาน เป็น 1 ใน 50 ประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกแต่ซูดานก็มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงเนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยสังเกตได้จากการก่อสร้างที่มีมากขึ้นบริเวณกรุงคาร์ทูม อย่างไรก็ดี สินค้าอุปโภคบริโภคยังมีราคาสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยในปัจจุบัน เนื่องจากได้มีการลงนามสันติภาพแล้วเมื่อ 9 มกราคม 2548 ซูดานจึงให้ความสนใจต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ซูดานเป็นประเทศใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกามีพื้นที่มากกว่าประเทศไทย 4 เท่า มีแม่น้ำบลูไนล์และไวท์ไนล์ไหลมาบรรจบที่กรุงคาร์ทูม พื้นที่สองฟากฝั่งจึงมีความอุดมสมบูรณ์ ซูดานเป็นประเทศที่มีหนี้สินต่างชาติเป็นอันดับหนึ่งของโลกในปี 2536 โดยหนี้ดังกล่าวเป็นของ World Bank และ IMF ซึ่งหนี้ส่วนใหญ่รัฐบาลนำมาใช้ในโครงการต่างๆ ทำให้นาย Bashir และนาย Salva Kirr รองประธานาธิบดีคนแรกของซูดาน มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมธิการขึ้นมาศึกษาผลกระทบทางวิกฤติการเงินโลกต่อประเทศซูดาน คณะกรรมธิการดังกล่าว ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จากทั้งภาคส่วนของรัฐบาลและภาคส่วนของรัฐบาลของภาคใต้ของซูดาน (Government of Southern Sudan: GOSS )

รัฐบาลซูดานได้เปิดโรงผลิตไฟฟ้าที่เขื่อน Merowe ซึ่งคาดการณ์ว่าการก่อสร้างจะเสร็จสมบรูณ์ปลายปี 2553 คาดว่าจะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าของซูดานได้เท่าตัว โดยจุดประสงในการสร้างเขื่อนดังกล่าวมีดังนี้ (1) ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้า (2) รองรับพัฒนาการทางด้านเกษตรกรรมที่จะเกิดขึ้นรอบๆอ่างเก็บน้ำที่ยาวกว่า 9.7ก.ม. (3) รองรับโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล เช่น โครงการก่อสร้างสะพาน Nileโครงการขยายรางรถไฟ โครงการก่อสร้างโรงพยาบาล และสนามบินแห่งใหม่ใกล้เมือง Merowe

3. นโยบายต่างประเทศ
ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกและสหภาพยุโรป รัฐบาลซูดานถูกกล่าวหาจากชาติตะวันตกว่ากระทำการต่อกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและประชาชนในดินแดนดาร์ฟูร์อย่างไม่มีมนุษยธรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง โดยการส่งกองกำลังมุสลิมติดอาวุธที่เรียกว่าพวก Janjaweed บุกจู่โจม เผาทำลายหมู่บ้านประชาชนอย่างโหดเหี้ยม อย่างไรก็ดีรัฐบาลซูดานปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาโดยตลอด สหภาพแอฟริกาได้ส่งกองกำลังเข้าไปตรวจตราสถานการณ์ความปลอดภัยตั้งแต่ปี 2547 และได้พยายามจัดการเจรจาสันติภาพขึ้นหลายครั้ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จนเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2549 ได้มีการลงนามสัญญาสันติภาพดาร์ฟูร์ขึ้น ซึ่งมีสาระสำคัญในเรื่องการแบ่งสรรอำนาจ แบ่งสรรรายได้ การหยุดยิงและการจัดการด้านความมั่นคง อย่างไรก็ดี สัญญาสันติภาพนี้ ครอบคลุมเพียงบางส่วนของฝ่ายต่อต้านในดาร์ฟูร์เท่านั้น

ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ซูดานเป็นประเทศหนึ่งที่เคยถูกสหรัฐฯ ระบุว่าเป็นผู้สนับสนุนการก่อการร้ายสากล เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2541 สหรัฐฯ ยิงจรวดถล่มโรงงานเภสัชกรรมซูดานในกรุงคาร์ทูมเพื่อตอบโต้การที่ซูดานมีส่วนเกี่ยวพันกับการก่อการร้ายและการลอบวางระเบิดสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในเคนยาและแทนซาเนีย โดยอ้างว่า โรงงานดังกล่าวเป็นแหล่งผลิตอาวุธเคมี พร้อมทั้งประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและทางทหารต่อซูดาน อย่างไรก็ดี ซูดานปฏิเสธและมีหนังสือเรียกร้องให้สหประชาชาติส่งคณะตรวจสอบข้อเท็จจริงเข้าไปพิสูจน์ ในปีต่อมาสหรัฐฯ เริ่มผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรซูดานเพื่อเปิดทางให้มีความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อซูดาน ปัจจุบัน รัฐบาลสหรัฐฯ มีความพอใจที่รัฐบาลคาร์ทูมให้ความร่วมมือกับสหรัฐในการต่อต้านการก่อการร้าย

สำหรับความร่วมมือในภูมิภาคแอฟริกา ปัจจุบันซูดานเป็นสมาชิกกลุ่มสหภาพแอริกา (African Union: AU) และองค์การตลาดร่วมแห่งแอฟริกาตอนใต้และตะวันออก (Common Market for Eastern and Southern Africa: COMESA) ปัจจุบันกลุ่มสหภาพแอฟริกายังคงร่วมสนันสนุนนาย Bashir ในการต่อต้านกระบวนการของ ICC
ความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย รัฐบาลซูดานยังคงให้การสนับสนุนทางการเมืองแก่ประเทศในหมู่ Gulf Arab และประเทศในแถบเอเชีย โดยเฉพาะประเทศจีนที่เป็นคู่ค้าที่สำคัญของประเทศซูดาน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่งออกรายใหญ่ของซูดาน นอกจากนี้ บริษัท Petronas ของมาเลเซีย ยังได้รับสัมปทานจากรัฐบาลซูดานให้สามารถประกอบธุรกิจอุตสาหรกรรมน้ำมันในซูดานได้
ความสัมพันธ์ระหว่างซูดานกับประเทศเพื่อนบ้านนั้นค่อนข้างที่จะตึงเครียดโดยเฉพาะกับชาดที่สนับสนุนกลุ่มกบฏ Darfuri และถ้าหากว่าความตกลงสันติภาพถูกยกเลิกเมื่อใด ความสัมพันธ์กับประเทศแคนยาและประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่ม SPLM ก็จะเพิ่มความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น

 

 

เศรษฐกิจการค้า

ข้อมูลเศรษฐกิจ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 17.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

รายได้ประชาชาติต่อหัว 1,808 ดอลลาร์สหรัฐ

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 6.5

อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 17.8

ทุนสำรองต่างประเทศ 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อุตสาหกรรมที่สำคัญ น้ำมัน ฝ้าย สิ่งทอ ซีเมนต์ น้ำมันพืช น้ำตาล สบู่ รองเท้า การกลั่นน้ำมัน ยา อาวุธยุทโธปกรณ์ ส่วนประกอบยานยนต์และรถบรรทุก

ดุลการค้ากับไทย ปี 2551 ไทยและซูดานมีมูลค่าการค้ารวม 188.81 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 109.60 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยนำเข้า 79.21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า 30.39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกที่สำคัญ น้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ฝ้าย งา ปศุสัตว์ ถั่วลิสง ยางอารบิก น้ำตาล

สินค้านำเข้าที่สำคัญ อาหาร สินค้าอุตสาหกรรม อุปกรณ์ในการกลั่นและการขนส่ง ยาและเคมีภัณฑ์ สิ่งทอ ข้าวสาลี

ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ส่งออกไป จีนร้อยละ 82.1 ญี่ปุ่นร้อยละ 8.4 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ร้อยละ 2.5

นำเข้าจาก จีนร้อยละ 27.9 ซาอุดีอาระเบียร้อยละ 7.5 อินเดียร้อยละ 6.3 อียิปต์ร้อยละ 5.6 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ร้อยละ 5.5 ญี่ปุ่นร้อยละ 4.2

หน่วยเงินตรา Sudan Pounds (ปอนด์) (SDG) อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 2.34 ปอนด์ หรือประมาณ 1 ปอนด์ประมาณ 14.96 บาท (เมษายน 2552)

 

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐซูดาน( not use )

1. ความสัมพันธ์ทั่วไป
1.1 ด้านการทูต
ไทยสถาปนาความสัมพันธ์กับซูดานเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2525 โดยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร มีเขตอาณาคลุมถึงประเทศซูดาน เอกอัครราชทูตคนปัจจุบันคือนายนภดล เทพพิทักษ์ และกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงคาร์ทูม คือนาย Gamal B. Elnefeidi ส่วนฝ่ายซูดานมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตซูดานประจำประเทศมาเลเซีย ดูแลประเทศไทย กงสุลกิตติมศักดิ์ซูดานประจำประเทศไทยคือ นาย Yahia Elmakki Mohamed

1.2 ด้านเศรษฐกิจ
ขณะนี้ นักธุรกิจไทยกำลังดำเนินการจัดตั้งศูนย์การค้าไทยที่กรุงคาร์ทูม ประกอบด้วยซูเปอร์มาร์เก็ตสินค้าไทย (อาหารฮาลาล) ห้องแสดงสินค้าไทย และร้านอาหารไทย ซึ่งได้เริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2547 เมื่อเดือนมีนาคม 2546 บริษัทเอ็กโก เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (เอสโก) ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รับสัญญาว่าจ้างงานบริหารจัดการโรงไฟฟ้า El Gaili 1 และ 2 และถ่ายทอดความรู้งานเดินเครื่อง และบำรุงรักษาให้กับพนักงานของบริษัท National Electricity Corporation (NEC) (การไฟฟ้าแห่งชาติซูดาน) ต่อมา เมื่อเดือนกันยายน 2546 บริษัทเอ็กโกฯ ได้รับสัญญาว่าจ้างเพิ่มอีกหนึ่งสัญญา ในการจัดหา spare parts และงานซ่อมบำรุงให้กับโรงไฟฟ้า El Gaili 2 รวมทั้งงานฝึกอบรมมูลค่า 318 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2547 บริษัทเอ็กโกฯ ได้ลงนามสัญญาอีก 2 ฉบับ กับฝ่ายซูดาน จัดหา spare parts ให้กับโรงไฟฟ้า El Gaili และโรงไฟฟ้า Khartoum North รวมทั้งงานฝึกอบรม เป็นมูลค่ารวมกัน 283.4 ล้านบาท

ศักยภาพการเข้าไปลงทุนในซูดานของนักธุรกิจไทย แม้ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและซูดานยังไม่มาก แต่ซูดานมีความต้องการสินค้าจากไทย เช่น เสื้อผ้า วัสดุก่อสร้าง อาหารกระป๋อง ส่วนไทยนำเข้าฝ้ายจากซูดาน แต่การค้าส่วนใหญ่ผ่านประเทศที่สาม ซึ่งหากมีการติดต่อโดยตรงจะช่วยให้ต้นทุนของสินค้าลดลงและสามารถขยายสินค้าเข้าไปจำหน่ายในซูดานได้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน ไทยมีศักยภาพที่จะเข้าไปลงทุนในซูดานได้อีกมาก เพราะไทยมีแรงงานและช่างฝีมือไทยซึ่งฝีมือดีเป็นที่ต้องการ โดยเฉพาะในธุรกิจภาคการก่อสร้างที่กำลังขยายตัวและในธุรกิจบริการ ทั้งนี้ หากวัสดุก่อสร้างจากประเทศไทยสามารถเข้ามาในซูดานได้ก็จะยิ่งทำให้มีผู้ประกอบการชาวไทยมีโอกาสเจาะตลาดได้อีกมาก เนื่องจากโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของซูดานต้องการสินค้าที่มีคุณภาพและคงทนถาวร มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน (value for money) และที่สำคัญต้นทุนไม่สูงมากอย่างของยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา

ถึงแม้ซูดานจะยังมีปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศและมีความขัดแย้งของชนกลุ่มน้อยในภาคใต้และเขต Darfur แต่โดยข้อเท็จจริงการทำธุรกิจในซูดานกำลังขยายและมีการติดต่อธุรกิจกับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศในตะวันออกกลางซึ่งมีสายการบินของซูดานและต่างชาติอื่น ๆ บินเข้า-ออกซูดานทุกวัน ปัจจุบันประเทศในอาเซียนเข้าไปทำธุรกิจในซูดาน เช่น บริษัทน้ำมันของมาเลเซีย

ความสัมพันธ์ไทย-ซูดานทางเศรษฐกิจดำเนินไปได้ด้วยดี มูลค่าการค้าไทย-ซูดานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2547-2551) โดยมีมูลค่าการค้าเฉลี่ย 35,185 ล้านบาท ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามาโดยตลอด

สำหรับมูลค่าการค้าระหว่าง 2 ประเทศในปี 2551 มีมูลค่า 6,158.17 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 36.85 และเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าจำนวนมาก โดยไทยส่งออกสินค้าเป็นมูลค่า 3,589.21ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 582.57 ล้านบาท ทั้งนี้ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น สำหรับการนำเข้าสินค้านั้น ไทยนำเข้าสินค้าจากซูดานเป็นมูลค่า 2,568.96 ล้านบาท โดยสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ด้ายและเส้นใย เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น

1.3 ด้านสังคมและวัฒนธรรม
- ไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่ทหารเข้าร่วมในภารกิจสหประชาชาติในซูดาน (United Nations mission in Sudan: UNMIS) เพื่อเข้าร่วมในปฏิบัติการรักษาสันติภาพในฐานะเป็นผู้สังเกตการณ์ทางทหาร นอกจากนี้ไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่ทหารรายบุคคลเข้าปฏิบัติหน้าที่ในฝ่ายอำนวยการในภารกิจรักษาสันติภาพผสมระหว่างสหภาพแอฟริกาและสหประชาชาติในดาร์ฟูร์ (AU/UN Hybrid operation in Darfur: UNAMID) และอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมกองพันทหารราบ จำนวน 1 กองพันเพื่อเข้าร่วมในภารกิจ UNAMID

- สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศได้ส่งคณะสำรวจเพื่อจัดทำแผนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและการฝึกอบรมระหว่างไทยและซูดานทางด้านเกษตรกรรม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจากฝ่ายซูดาน

2. ความตกลงที่สำคัญๆกับไทย
2.1 ความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (อยู่ในระหว่างการพิจารณา)
2.2 ความตกลงยกเว้นภาษีซ้อน (กรมสรรพากรเห็นว่ายังไม่มีความเร่งด่วนในกานบรรจุในแผนงาน)
2.3 พิธีสารว่าด้วยการหารือและความร่วมมือระหว่างกระทรวงต่างประเทศ (อยู่ในระหว่างพิจารณา)

3. การเยือนของผู้นำระดับสูง
3.1 ฝ่ายไทย
- เมื่อวันที่ 11 – 15 มิถุนายน 2544 นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา และคณะเดินทางเยือนซูดาน
- เมื่อวันที่ 13 – 15 กันยายน 2546 อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ นำคณะผู้แทนไทยเยือนซูดาน และร่วมประชุม Working Group Dialogue ครั้งที่ 1 ที่กรุงคาร์ทูม
- เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2548 นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เยือนซูดาน
- เมื่อวันที่ 19-21 มกราคม 2549 ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เยือนซูดาน เพื่อร่วมประชุม Executive Council ของ African Union
- เมื่อวันที่ 19-20 เมษายน 2550นายสวนิต คงสิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนซูดาน

3.2 ฝ่ายซูดาน
- เมื่อวันที่ 5 – 9 มีนาคม 2545 ประธานรัฐสภาซูดานเยือนไทยระหว่าง และเข้าพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเห็นพ้องให้จัดตั้ง Working Group Dialogue ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศ
- เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2548 Dr. Mosfa Osman Esmael รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซูดานแวะพักเปลี่ยนเที่ยวบินที่ประเทศไทยเพื่อเดินทางไปเมืองดูไบ
- เมื่อวันที่ 13-16 สิงหาคม 2549นาย Lam Akol Ajawin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซูดานเดินทางเยือนไทย


-------------------------------------------------------------

[1] ความตกลงสันติภาพเบ็ดเสร็จ (Comprehensive Peace Agreement: CPA) หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ความตกลง Naivasha Agreement (ตามชื่อเมือง Naivasha ในเคนยา ซึ่งเป็นสถานที่ลงนามความตกลง) มีสาระสำคัญในเรื่องการหยุดยิง การจัดการด้านการรักษาความมั่นคง การแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การแบ่งสรรอำนาจทางการเมือง และการแก้ปัญหาเขตแดน ทั้งนี้ ตามความตกลงดังกล่าวกำหนดให้รัฐบาลซูดาน (ซึ่งขณะนั้นจนถึงปัจจุบัน อยู่ภายใต้การนำของพรรค National Congress Party: NCP) ร่วมกับ SPLA จัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (Government of National Unity: GNU) ขึ้น และให้ดินแดนซูดานตอนใต้ ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของ SPLA มีอำนาจในการปกครองตนเอง (autonomous) และมีรัฐบาลของตนเอง โดยมี Juba เป็นเมืองหลวง จนกว่าจะมีการจัดการลงประชามติ (referendum) ในปี 2554 เพื่อให้ประชาชนในเขตซูดานตอนใต้และรัฐอื่นอีก 3 รัฐ (ได้แก่ Blue Nile, Nuba Mountains และ Southern Kurdufan) ตัดสินใจว่าต้องการจะแยกตนเองเป็นอิสระหรือไม่ และหลังจากที่มีการลงนามใน CPA แล้ว นาย John Garang ประธานาธิบดีซูดานตอนใต้ ได้เข้าร่วมใน GNU โดยดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคนที่ 1 และมีผู้แทนจาก SPLA เข้าร่วมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลกลางอีกหลายราย และหลังจากที่นาย Garang เสียชีวิตไปเมื่อกลางปี 2548 นาย Salva Kiir Mayardit ก็ได้เข้ารับตำแหน่งแทนมาจนถึงปัจจุบัน ภายหลังการลงนามใน CPA คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้รับรองข้อมติที่ UNSC 1590(2005) วันที่ 24 มีนาคม 2548 จัดตั้งภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในซูดาน (United Nations Mission in Sudan: UNMIS) ขึ้น


************************************

พฤศจิกายน 2552


กองตะวันออกกลาง กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5000 ต่อ 2038 E-mail : southasian03@mfa.go.th

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ