สาธารณรัฐเซเชลส์

สาธารณรัฐเซเชลส์

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ม.ค. 2553

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 พ.ย. 2565

| 1,881 view


สาธารณรัฐเซเชลส์
Republic of Seychelles

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง สาธารณรัฐเซเชลส์เป็นประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดียอยู่ห่างจากฝั่งตะวันออกของเคนยา ประมาณ 1,800 กม. ห่างจากด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเมือง บอมเบ ย์ อินเดีย ประมาณ 3,300 กม. และอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะมาดากัสการ์ ประมาณ 1,100 กม.

พื้นที่ (พื้นแผ่นดิน) 455 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ทาง 1.3 ล้านตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงวิคตอเรีย (Victoria)

ประชากร 89,000 คน (2554)

ภูมิอากาศ สภาพอากาศร้อนชื้นในเขตทะเล ฤดูที่อากาศเย็นกว่าจะอยู่บริเวณลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ (ปลายเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม) ส่วนฤดูที่อากาศอบอุ่นขึ้นจะอยู่บริเวณลมมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือ (มีนาคมถึงพฤษภาคม)

ภาษาราชการ ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส Creolo

ศาสนา คริสต์ (นิกายโรมันคาทอลิก 82.3%) Anglican 6.4% คริสต์ (นิกายอื่นๆ 4.5% อื่นๆ 3.6% ฮินดู 2.1% อิสลาม 1.11%)

การเมืองการปกครอง

เซเชลส์ปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขรัฐ ผู้นำรัฐบาล และผู้บัญชาการทหารสูงสุด สถาบันการเมืองประกอบด้วยฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ รัฐสภาของเซเชลส์เป็นระบบสภาเดียว มีสมาชิกรัฐสภาจำนวน 34 คน มาจากการเลือกตั้งระบบเขต 24 คน และระบบสัดส่วน 10 คน

ประธานาธิบดีเซเชลส์คนปัจจุบัน คือ นาย James Michel จากพรรค People’s Power (PP) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี 2547 (ค.ศ. 2004) ล่าสุด นาย Michel ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน เมื่อเดือน พ.ค. 2554 (ค.ศ. 2011) จากผลงานการพัฒนาเศรษฐกิจเซเชลส์

ต่อมา ประธานาธิบดี Michel ได้อาศัยประโยชน์จากกระแสนิยมดังกล่าวประกาศยุบสภาก่อนกำหนดเพื่อจัดการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา เมื่อวันที่ 29 ก.ย. - 1 ต.ค. 2554 (ค.ศ. 2011) ทำให้พรรค Seychelles National Party (SNP) ซึ่งเป็นพรรคคู่แข่งสำคัญของพรรค PP ประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง ดังนั้น พรรค PP ของนาย Michel จึงสามารถกวาดที่นั่งในสภาจำนวน 31 ที่นั่งจากทั้งหมด 34 ที่นั่ง ชัยชนะของพรรค PP จะช่วยให้ประธานาธิบดี Michel สามารถเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งมีปัญหาการใช้ภาษาที่ค่อนข้างกว้าง ทำให้สามารถตีความขัดแย้งกับกฎหมายอื่นได้ โดยไม่ต้องอาศัยเงื่อนไขจำนวนเสียงสมาชิกรัฐสภาเกิน 2 ใน 3

เมื่อเดือนมกราคม 2555 (ค.ศ. 2012) ผู้แทนพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านทุกพรรคในเซเชลส์ได้จัดตั้ง Forum for Electoral Reform เพื่อร่วมกันปรับปรุงกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งอาจช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการคว่ำบาตรการเลือกตั้งเช่นครั้งที่ผ่านมา

เศรษฐกิจและสังคม

แต่เดิม รัฐบาลเซเชลส์ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีกึ่งสังคมนิยม โดยใช้นโยบายควบคุมการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่การพัฒนาสังคม อาทิ การเพิ่มอัตราการรู้หนังสือของประชาชน การขยายบริการระบบสาธารณูปโภคและการสาธารณสุขของประเทศ ส่งผลให้เซเชลส์สามารถขยับขึ้นมาเป็นประเทศที่มีรายได้กลางถึงสูง (upper-middle income) ของโลก โดยระดับ GDP per capita ของเซเชลส์อยู่ในลำดับต้นในทวีปแอฟริกา (11,116.89 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2554)

อย่างไรก็ดี ช่วงปี 2549-2551 (ค.ศ. 2006-2008) การประกาศลดค่าเงินรูปีเซเชลส์ ปัญหาเงินเฟ้อและราคาอาหารและน้ำมันในเซเชลส์สูงขึ้น ทำให้รัฐบาลเซเชลส์ประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ต่อมา ในปี 2552 (ค.ศ. 2009) รัฐบาลเซเชลส์จึงได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund - IMF) โดยมีข้อกำหนดให้ยกเลิกการควบคุมอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ และเพิ่มการควบคุมนโยบายทางการเงินเป็นการแลกเปลี่ยนการปฏิบัติตามข้อกำหนดของ IMF ทำให้เศรษฐกิจเซเชลส์ดีขึ้นตามลำดับ

รัฐบาลชุดปัจจุบันยังคงดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีต่อไป โดยพัฒนาระบบการค้าให้มีธรรมาภิบาล และแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ล่าสุด รัฐบาลเซเชลส์ได้เสนอให้มีการจัดตั้งศาลพาณิชย์ (Commercial Court)และฐานข้อมูลเครดิต นอกจากนี้ ได้ขายหุ้นสายการบิน Air Seychelles ร้อยละ 40 ให้แก่สายการบิน Etihad ของสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์

ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ทำให้เซเชลส์มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว การประมง (ปลาทูน่า) และการคมนาคม (จุดบริการเรือเดินสมุทร)

การท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ คิดเป็นร้อยละ 25 ของ GDP ในปี 2554 (ค.ศ. 2011) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนเซเชลส์มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 194,476 คน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากทวีปยุโรป (ประมาณร้อยละ 73 ของจำนวนนักท่องเที่ยว)

ที่ตั้งของเซเชลส์นั้นอยู่ในบริเวณแหล่งปลาทูน่า จึงทำให้เซเชลส์มีโรงงานผลิตปลาทูน่ากระป๋องที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมประเภทนี้ยังมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากการจับปลาทูน่าในมหาสมุทรอินเดียต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางทะเล และสภาพอากาศที่อาจแปรปรวนอย่างฉับพลัน

ระบบการขนส่งทางเรือและการให้บริการท่าเรือเป็นภาคส่วนที่สำคัญที่สุดของเซเชลส์ เนื่องจากพื้นที่ทางทะเลและเขตเศรษฐกิจจำเพาะของเซเชลส์มีอาณาเขตครอบคลุมบริเวณมหาสมุทรอินเดียฝั่งตะวันตกอย่างกว้างขวาง เซเชลส์จึงป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการขนส่งสินค้า และการให้บริการเส้นทางการเดินเรือระหว่างประเทศในมหาสมุทรอินเดียฝั่งตะวันตก ทั้งที่เป็นเรือบรรทุกสินค้า เรือประมงขนาดใหญ่ และเรือสำราญ

นอกเหนือจากอุตสาหกรรมสำคัญข้างต้น รัฐบาลเซเชลส์ดำเนินนโยบายที่จะกระจายภาคการผลิตไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเน้นที่อุตสาหกรรมขนาดเบา เช่น การผลิตเครื่องดื่มเพื่อบริโภคภายใน บุหรี่ ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเคมี เป็นต้น และได้จัดทำนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า การจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก (Export Processing Zone - EPZ) และการจัดทำรัฐบัญญัติว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนปี 2553 (ค.ศ. 2010)

การต่างประเทศ

ในช่วงก่อนสงครามเย็น เซเชลส์มีความสัมพันธ์อันดีทั้งกับประเทศคอมมิวนิสต์ อาทิ สหภาพโซเวียต ลิเบีย และเกาหลีเหนือ และกับประเทศต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะสหรัฐฯ โดยเซเชลส์ได้อนุญาตให้สหรัฐฯ ตั้งสถานีติดตามทางดาวเทียม (Satellite Tracking Station) ในเซเชลส์ หลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลง เซเชลส์ดำเนินนโยบายแบบเปิดประเทศมากขึ้นทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ เนื่องจากเซเชลส์ต้องการรักษาระดับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินจากชาติตะวันตก

นโยบายต่างประเทศของเซเชลส์ในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือในระดับโลกและระดับภูมิภาคมากขึ้น โดยเซเชลส์เป็นสมาชิกของสหประชาชาติและหน่วยงานของสหประชาชาติอื่นๆ รวมทั้ง IMF และองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ อาทิ สหภาพแอฟริกา (African Union - AU) และกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement - NAM)

สำหรับความร่วมมือในภูมิภาค เซเชลส์เป็นสมาชิกประชาคมเพื่อการพัฒนาแอฟริกาตอนใต้ (Southern African Development Community - SADC) ตลาดร่วมแห่งภูมิภาคตะวันออกและแอฟริกาตอนใต้ (The Common Market for Eastern and Southern Africa - COMESA) สมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Rim Association for Regional Cooperation - IOR-ARC) นอกจากนี้ เซเชลส์ มอริเชียส และมาดากัสการ์ได้ร่วมกันก่อตั้งคณะกรรมาธิการมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Commission - IOC) ขึ้นในปี 2527 (ค.ศ. 1984) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและขยายการค้าระหว่างประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดียในทวีปแอฟริกา

ปัจจุบัน เซเชลส์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการกระทำอันเป็นโจรสลัดในอ่าวเอเดนและมหาสมุทรอินเดียตะวันตก เขตปฏิบัติการของโจรสลัดได้ขยายมาถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะของเซเชลส์ เซเชลส์จึงได้มีบทบาทในเรื่องดังกล่าว โดยได้ลงนามความตกลง Djibouti Code of Conduct   

เพื่อร่วมต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัด ทั้งในด้านการจับกุม การปรับกฎหมายภายในประเทศ รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน และศาลเซเชลส์ตัดสินจำคุกนักโทษโซมาเลียในข้อหาโจรสลัด เนื่องจากได้พยายามปล้นเรือลาดตระเวนชายฝั่งเซเชลส์ จากเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะนี้ ประชาคมนานชาติสหภาพยุโรป จีน อินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ให้ความช่วยเหลือเซเชลส์ในการจัดตั้ง Regional Anti-Piracy Prosecution and Intelligence Center (RAPPIC) ซึ่งเป็นศูนย์ต่อต้านโจรสลัดในภูมิภาค

ความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-เซเชลส์

ความสัมพันธ์ทั่วไป

ไทยและเซเชลส์ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2531 (ค.ศ. 1988) โดยรัฐบาลไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา มีเขตอาณาครอบคลุมเซเชลส์ และแต่งตั้งได้แต่งตั้งให้นาย Joe Chung-Faye ชาวเซเชลส์เชื้อสายจีน ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำเซเชลส์ ในขณะเดียวกัน เซเชลส์ได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตเซเชลส์ ณ กรุงปักกิ่ง มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย และแต่งตั้งให้ นายชาญชัย กรรณสูต เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐเซเชลส์ประจำไทย

ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ไทย-เซเชลส์ ดำเนินไปอย่างราบรื่นและมีพัฒนาการดีขึ้นเป็นลำดับ เหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2547 (ค.ศ. 2004) ส่งผลกระทบต่อเซเชลส์ โดยทำให้ชาวเซเชลส์เสียชีวิต 3 คน และส่งผลให้กิจการโรงแรมและประมงของเซเชลส์ได้รับความเสียหายประมาณ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาในปี 2548 (ค.ศ. 2005) ไทยได้จัดการประชุม Tsunami Early Warning Arrangement ในโอกาสนั้น ไทยได้มอบเช็คในนามของรัฐบาลไทย จำนวน 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือกรณีธรณีพิบัติภัยแก่เซเชลส์ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เซเชลส์ มีความใกล้ชิดยิ่งขึ้น และเมื่อเดือน ส.ค. 2553 (ค.ศ. 2010) เอกอัครราชทูตเซเชลส์ ณ กรุงปักกิ่ง เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อถวายลูกปาล์มทะเล (Coco de Mer) สด พร้อมด้วยข้อมูลการปลูก ซึ่งถือเป็นเกียรติอย่างสูง เนื่องจากรัฐบาลเซเชลส์มีข้อบังคับให้นำเฉพาะผลปาล์มทะเลแห้งออกนอกประเทศได้เท่านั้น

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

มูลค่าการค้ารวม ไทย-เซเชลส์ มีมูลค่าน้อยแต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2554 (ค.ศ. 2011) มีมูลค่า 11.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 5.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยนำเข้า 6.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยขาดดุล 0.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกของไทย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม เคหะสิ่งทอ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน น้ำตาลทราย รองเท้าและชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์พลาสติก สินค้านำเข้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ สัตว์น้ำสดแช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งแปรรูป

สายการบิน Air Seychelles เคยมีเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ-กรุงวิกตอเรีย แต่ได้ปิดบริการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. 2551 (ค.ศ. 2008) เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุน

บริษัท Thai Union Frozen (TUF) ได้ร่วมลงทุนกับรัฐบาลเซเชลส์ โดยถือหุ้นร้อยละ 60ของบริษัท Indian Ocean Tuna (IOT) ของเซเชลส์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋อง ยี่ห้อ John West

ขณะนี้ มีคนไทยอยู่ในเซเชลส์ประมาณ 120 คน ส่วนใหญ่ทำงานเป็นพนักงานและแม่ครัวในโรงงานผลิตปลาทูน่ากระป๋องของบริษัท IOT อีกส่วนทำงานก่อสร้างโรงแรมและรีสอร์ทกับบริษัท Sun Jin Engineering ของเกาหลีใต้ ที่เหลือทำงานในร้านอาหารไทย ร้านนวดแผนไทย และสปาตามรีสอร์ทในเซเชลส์

ความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม

เมื่อเดือน เม.ย. 2549 (ค.ศ. 2006) รัฐบาลเซเชลส์ได้มอบเต่ายักษ์ 2 ตัวให้เป็นของขวัญแก่รัฐบาลไทย ปัจจุบัน อยู่ในความดูแลของสวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี

ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา

ประเทศไทยได้ให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแก่ประเทศเซเชลส์ในรูปของทุนฝึกอบรมหลักสูตรนานาชาติประจำปี (Annual International Training Course - AITC)

ความตกลงทวิภาคีไทย-เซเชลส์

ความตกลงที่ลงนามแล้ว

(1) ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนไทย – เซเชลส์ – ลงนามเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2544 (ค.ศ. 2001) และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2549 (ค.ศ. 2006) ต่อมา เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2552 (ค.ศ. 2009) เซเชลส์แจ้งขอปรับแก้ไขร่างให้สอดคล้องกับพัฒนาการล่าสุดเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization of Economic Cooperation and Development - OECD) ปัจจุบัน ฝ่ายไทย (กรมสรรพากร) อยู่ระหว่างการพิจารณาส่วนแก้ไข

(2) ความตกลงว่าดัวยบริการเดินอากาศระหว่างไทย-เซเชลส์ - ลงนามเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2546 (ค.ศ. 2003)

ความตกลงที่อยู่ระหว่างการพิจารณา

(1) ความตกลงการขอยกเว้นการตรวจลงตรา

(2) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและวิชาการ

(3) ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้ง Political Consultations

การเยือน

ฝ่ายไทย

(1) นายปกศักดิ์ นิลอุบล อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกานำคณะสำรวจข้อเท็จจริงนำเดินทางเยือนเซเชลส์ ระหว่างวันที่ 8-11 ก.พ. 2542 (ค.ศ. 1999)

(2) นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินทางเยือนเซเชลส์ ระหว่างวันที่ 1-15 เม.ย. 2542 (ค.ศ. 1999)

(3) นายเฉลิมพล ทันจิตต์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนเยือนเซเชลส์ระหว่างวันที่ 7-11 เม.ย. 2555 (ค.ศ. 2012) เพื่อสำรวจลู่ทางการค้าและการลงทุน

(4) พล.อ.ธนศักดิ์  ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และพล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการกองทัพเรือ เพร้อมด้วยคณะ เดินทางเยือนเซเชลส์ระหว่างวันที่ 20-21 พฤษภาคม 2555 (ค.ศ. 2012)เพื่อตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของทหารเรือไทย ที่มาปฏิบัติหน้าที่ผู้บัญชาการกองเรือเฉพาะกิจผสม 151 (Combined Task Forces 151-CTF151)

ฝ่ายเซเชลส์

(1) เมื่อวันที่ 7-10 พ.ย. 2533 (ค.ศ. 1990) นาง Danielle de St. Jorre รัฐมนตรีกระทรวงวางแผนและการต่างประเทศเซเชลส์เดินทางเยือนไทย และได้เข้าพบและหารือข้อราชการกับนายอำนวย ยศสุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

(2) เมื่อวันที่16-21 พ.ย. 2536 (ค.ศ. 1993) นาย Claude Morel อธิบดีกรมกิจการระหว่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศเซเชลส์เดินทางมาร่วมการประชุมใหญ่ประเทศภาคีอนุสัญญากรุงเวียนนา ครั้งที่ 3 และพิธีสารมอนทรีออล ครั้งที่ 5 ที่กรุงเทพฯ และได้เข้าพบหารือข้อราชการกับนายพิรัฐ อิศรเสนา ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

(3) เมื่อวันที่ 21-26 ม.ค. 2543 (ค.ศ. 2000) นาย Dalor C. Ernesta รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและทรัพยากรทางทะเลเซเชลส์ พร้อมคณะจำนวน 5 คน ได้เดินทางเยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้เข้าพบและหารือข้อราชการกับ นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

(4) เมื่อเดือน ก.ค. 2547 (ค.ศ. 2004) นาย Patrick Georges Pillay รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเซเชลส์ เดินทางมาเยือนไทยในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเข้าร่วมประชุมโรคเอดส์โลก และมีความชื่นชมต่อการพัฒนาประเทศของไทย รวมทั้งแสดงความประสงค์จะเรียนรู้ประสบการณ์จากไทย เพื่อไปปรับใช้กับเซเชลส์

(5) เมื่อปี 2548 (ค.ศ. 2005) นาย Jeremie Bonnlame อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเซเชลส์ ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุม Tsunami Early Warning Arrangement ที่ประเทศไทย และได้พบหารือกับนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี

(6) เมื่อวันที่ 24-27 ส.ค. 2553 (ค.ศ. 2010) นาย Phillippe Le Gall เอกอัครราชทูตเซเชลส์ ณ กรุงปักกิ่งได้เดินทางเยือนไทย เพื่อเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมน้อมเกล้าฯ ถวายผล Coco de Mer สด และเข้าร่วมพิธีรับรองและลงนามกฎบัตรสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)

ข้อมูลจาก Seychelles National Bureau of Statistics

**************************

มิถุนายน 2555

กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-8

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ