ความคืบหน้าการดำเนินการของประเทศไทยในกรณีคดีปราสาทพระวิหาร (๕ เมษายน ๒๕๕๕)

ความคืบหน้าการดำเนินการของประเทศไทยในกรณีคดีปราสาทพระวิหาร (๕ เมษายน ๒๕๕๕)

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ม.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 9 พ.ย. 2565

| 1,829 view

 

เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๕ นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการประชุมคณะดำเนินคดีปราสาทพระวิหารของประเทศไทย ครั้งที่ ๒/๒๕๕๕ ที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน โดยมีผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

๑. ที่ประชุมฯ รับทราบผลการประชุมคณะทำงานร่วม (Joint Working Group –JWG) ไทย – กัมพูชา ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๓ – ๕ เมษายน ๒๕๕๕ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยมีพลเอกวรพงษ์ สง่าเนตร เสนาธิการทหารบก เป็นประธานฝ่ายไทย และพลเอกเนียง พาด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา เป็นประธานฝ่ายกัมพูชา ซึ่งการประชุมดังกล่าวประสบความสำเร็จด้วยดี มีผลคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ และเป็นก้าวสำคัญในการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของมาตรการชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice – ICJ) โดยทั้งสองประเทศเห็นพ้องกัน (๑) ให้มอบหมายฝ่ายเลขานุการของแต่ละฝ่ายทำหน้าที่ประสานงานในกรอบของ JWG (๒) ให้มีการเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ปลอดทหารชั่วคราว และกำหนดตำแหน่งที่ตั้งในภูมิประเทศจริงของจุด A,B,C และ D ของเขตปลอดทหารชั่วคราวที่ศาลฯ กำหนด และ (๓) ให้มีการหารือกันต่อไปในประเด็นอื่น ๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวในการประชุมครั้งหน้าซึ่งกัมพูชาจะเป็นเจ้าภาพ

๒.  สำหรับกระบวนการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศนั้น เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๕ กัมพูชาได้ส่งคำอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษร (Written Explanation) ให้กับศาลฯ ซึ่งเป็นการเสนอข้อโต้แย้งต่อข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษร (Written Observations) ที่ฝ่ายไทยได้ยื่นต่อศาลฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๔ ทั้งนี้ สำหรับกระบวนการพิจารณาคดีในขั้นต่อไป ขณะนี้ฝ่ายไทยอยู่ระหว่างการจัดเตรียมคำอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อโต้แย้งคำอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษรล่าสุดของกัมพูชา โดยฝ่ายไทยมีกำหนดยื่นคำอธิบายดังกล่าวของฝ่ายไทยให้ศาลฯ ภายในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ หลังจากนั้น ศาลฯ จะพิจารณาข้อมูลต่อสู้คดีเป็นลายลักษณ์อักษรต่าง ๆ ที่ได้รับจากทั้งสองประเทศ เพื่อกำหนดกระบวนการพิจารณาคดีขั้นต่อไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลฯ ว่าจะกำหนดให้มีการนั่งพิจารณา (oral hearing) อีกครั้งเพื่อรับฟังข้อมูลคำอธิบายเพิ่มเติมจากทั้งสองฝ่ายหรือไม่

๓. โฆษกกระทรวงฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศของไทยมีกำหนดการเดินทางมาไทยในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕ เพื่อหารือกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการดำเนินการของฝ่ายไทยเพื่อเตรียมการสำหรับคดีที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยมีกำหนดการเข้าพบนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๑๐ พฤษภาคมศกนี้ ต่อคำถามเกี่ยวกับกำหนดการพิจารณาตัดสินคดีของศาลฯ นั้น โฆษกกระทรวงฯ แจ้งว่า ในชั้นนี้ ยังไม่สามารถยืนยันได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาและตารางเวลาของศาลฯ แต่คาดว่าศาลฯ น่าจะมีคำตัดสินในช่วงปลายปีหน้าเป็นอย่างเร็ว

********************************

๕ เมษายน ๒๕๕๕