รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแถลงข่าวเกี่ยวกับการดำเนินการกรณีคดีปราสาทพระวิหาร (๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแถลงข่าวเกี่ยวกับการดำเนินการกรณีคดีปราสาทพระวิหาร (๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕)

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ม.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 พ.ย. 2565

| 2,154 view

 

เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ในฐานะตัวแทนไทย กรณีกัมพูชายื่นขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice – ICJ) ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี ๒๕๐๕ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับการดำเนินการกรณีคดีดังกล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ประชุมกับคณะที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔ มอบหมายให้เป็นทนายความในการต่อสู้คดีของไทย เพื่อให้ทีมที่ปรึกษากฎหมายของไทยทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานด้านความมั่นคงได้รับข้อมูลและเนื้อหาที่ตรงกัน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทั้งสามเหล่าทัพ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย

รัฐมนตรีว่าการฯ แจ้งว่า ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมา ข้อเท็จจริง และความคืบหน้าในการดำเนินการเกี่ยวกับคดี รวมทั้งได้หารือกันถึงข้อกฎหมายและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นอันจะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย ซึ่งในช่วงบ่ายของวันนี้ จะได้มีการประชุมคณะดำเนินคดีปราสาทพระวิหารของประเทศไทยเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการชั่วคราวนั้นเป็นเรื่องที่ทั้งสองประเทศต้องปฏิบัติตาม และย้ำว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องการดำเนินการตามมาตรา ๑๙๐ ของรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ได้กำชับให้มีการดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป

ในส่วนของเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ในฐานะตัวแทนไทยฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมกับนายกรัฐมนตรีเมื่อเช้าวันนี้ ได้ผลการหารือที่สำคัญ ๒ ประการ ได้แก่ 

๑.  การประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายต่อที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศของไทยโดยตรง อันเป็นสัญญาณที่ดีว่ารัฐบาลให้ความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง และได้ใช้โอกาสดังกล่าวในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาระหว่างรัฐบาล ข้าราชการทั้งฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร กับที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาในแง่ของกฎหมาย เนื่องจากต้องคำนึงถึงความเป็นจริงในพื้นที่ด้วย

๒.   ที่ประชุมฯ ได้หารือกันเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดีของศาลฯ ซึ่งเมื่อวันที่ ๓๐ – ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ศาลฯ ได้นั่งพิจารณา (Oral hearing) กรณีคำขอของกัมพูชาให้ศาลฯ มีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราว และเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ศาลฯ ได้มีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราวให้ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตาม โดยได้กำหนดพื้นที่ให้ทั้งสองฝ่ายปรับกำลังทหารออกจากบริเวณดังกล่าว ขณะนี้ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการหารือเกี่ยวกับขั้นตอนเพื่อปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวของศาลฯต่อไป

สำหรับการตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารซึ่งเป็นคดีหลักนั้น ฝ่ายไทยได้ยื่นข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษร (Written Observations) ให้ศาลฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๔ และต่อมา ฝ่ายกัมพูชาได้ยื่นคำอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษร (Written Explanations) ตอบข้อสังเกตฯ ของฝ่ายไทยเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๕ แล้ว โดยศาลฯ กำหนดให้ฝ่ายไทยยื่นคำอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาลฯ ภายในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ ซึ่งขณะนี้ฝ่ายไทยอยู่ระหว่างการยกร่างเอกสารเพื่อยื่นคำอธิบายดังกล่าวต่อศาลฯ ภายในกำหนดเวลา ทั้งนี้ ศาลฯ จะพิจารณาเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดีขั้นต่อไปหลังจากได้รับคำอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษรจากฝ่ายไทยแล้ว โดยฝ่ายไทยคาดว่าน่าจะมีการนั่งพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะทำให้การตัดสินคดีน่าจะเกิดขึ้นในปี ๒๕๕๖ 

นอกจากนี้ ต่อข้อซักถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับผลการพิจารณาคดีนั้น เอกอัครราชทูตวีรชัยฯ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้หลายทาง แต่การมองประเด็นเรื่องของแพ้หรือชนะไม่เป็นประโยชน์ใด ๆ ต่อการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน แต่ควรมองว่าทั้งสองประเทศพยายามแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างสันติบนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นหนทางแห่งสันติภาพ และจะนำไปสู่การส่งเสริมและเพิ่มพูนผลประโยชน์ของประชาชนของทั้งสองประเทศ

*****************************************

๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕