ซอกแซกเมืองเศรษฐกิจหนานทงกับโอกาสความร่วมมือทางการค้าไทย – จีน

ซอกแซกเมืองเศรษฐกิจหนานทงกับโอกาสความร่วมมือทางการค้าไทย – จีน

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ก.พ. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 พ.ย. 2565

| 2,561 view
 
            เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๘ BIC Shanghai ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนาเส้นทางสายไหมทางทะเล ณ เมืองหนานทง ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญของมณฑลเจียงซูติดกับนครเซี่ยงไฮ้ ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำแยงซีติดทะเลจีนตะวันออก ด้วยทำเลที่เอื้อต่อการขนส่งทางทะเล และการพัฒนาอุตสาหกรรม รัฐบาลจีนจึงมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาเขตชายฝั่งทะเลของจีน (Coastal Development) และนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangzte River Delta Economic Zone) โดยอยู่ระหว่างก่อสร้างเขตท่าเรือเศรษฐกิจอ่าวทงโจวบนเส้นทาง One Belt, One Road ซอกแซกฉบับนี้จะขอพาท่านไปรู้จักกับเขตท่าเรือเศรษฐกิจอ่าวทงโจวและตลาดผ้าเตียซื่อเฉียว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่โดดเด่นของเมืองหนานทง 
 
การพัฒนาเขตท่าเรือเศรษฐกิจอ่าวทงโจวบนเส้นทาง One Belt, One Road
 
 
            อ่าวทงโจวในเมืองหนานทงเป็นศูนย์กลางคมนาคมทางทะเลที่สำคัญทางภาคตะวันออกของจีน เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเลของจีน ประกอบกับการที่มณฑลเจียงซูเป็นแหล่งกระจายสินค้าที่สำคัญภายในประเทศจีนและสำหรับการส่งออกไปยังประเทศที่สาม อีกทั้งยังเป็นแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เปิดโอกาสให้โครงการลงทุนเข้ามาลงทุนได้อย่างอิสระ และมีเขตอุตสาหกรรมสำคัญ ๔ แห่งที่สามารถส่งสินค้าไปต่างประเทศได้อย่างรวดเร็วผ่านอ่าวทงโจว เช่น Nantong Binhai Park, Nantong Economic & Technological Development Area, China Singapore Industrial Park และ Nantong Export Processing Zon
 
            ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น หากเขตท่าเรือเศรษฐกิจอ่าวทงโจวสร้างเสร็จสมบูรณ์จะเหมาะแก่การเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อ พักสินค้า และกระจายสินค้า เพื่อการนำเข้า-ส่งออก โดยสามารถเชื่อมโยงกับประเทศอาเซียนและทั่วโลก ทั้งนี้ เขตท่าเรือฯ มีแผนจะสร้างเขตทดลองอุตสาหกรรมระดับชาติ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการจีนกับต่างชาติ เช่น การสร้างเขตทดลองความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับแอฟริกา และในอนาคตจะมีเขตการค้าเสรีกับประเทศอื่น ๆ ด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่มีศักยภาพ มีระบบบริหารจัดการแบบ E-commerce ในพื้นที่ ๘๒๐ ตารางกิโลเมตร รองรับสินค้าจำนวนมากจากท่าเรือในนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งขณะนี้เริ่มมีปริมาณสินค้าเต็มความสามารถในการรองรับแล้ว จากศักยภาพดังกล่าวจึงส่งผลให้มีโครงการกว่า 110 โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมมูลค่ากว่า ๑๐๐ ล้านหยวน
 
ลู่ทางและโอกาสของไทยในการพัฒนาความร่วมมือด้านสิ่งทอในเมืองหนานทง
 
            นอกจากเขตท่าเรือฯ เมืองหนานทงยังมีอุตสาหกรรมสิ่งทอที่โดดเด่น โดยเป็นที่ตั้งของตลาดอุตสาหกรรมสิ่งทอเตียซื่อเฉียว (叠石桥) หรือ One Stop Center Dieshiqiao ซึ่งเป็นแหล่งส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอขนาดใหญ่ของมณฑลเจียงซู มีร้านค้ากว่า ๒๐,๐๐๐ ร้าน จากบริษัทผู้ผลิตกว่า ๖,๐๐๐ แห่ง มีกำลังการผลิตสิ่งทอคิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ ๕๐ ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของมณฑลเจียงซู และเป็นหนึ่งในสิบแหล่งผลิตสิ่งทอที่สำคัญของจีน ในปี ๒๕๕๗ สามารถทำรายได้กว่า ๕๕,๐๐๐ ล้านหยวน และปี ๒๕๕๘ เติบโตขึ้นเป็น ๖๐,๐๐๐ ล้านหยวน ผลิตภัณฑ์สิ่งทอของตลาดเตียซื่อเฉียวครึ่งหนึ่งส่งขายภายในจีน อีกครึ่งหนึ่งส่งขายไปยังตลาดต่างประเทศ ได้แก่ ภูมิภาคยุโรป ภูมิภาคแอฟริกา ภูมิภาคตะวันออกกลาง (โดยเฉพาะเมืองดูไบ) และรัสเซีย ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อ คือ เครื่องนอน และสิ่งทอสำหรับใช้ในครัวเรือน 
            ในอนาคต ตลาดแห่งนี้วางแผนจะเปิดเสรีการค้ากับประเทศอาเซียน และปากีสถาน โดยใช้เงินหยวนเพียงสกุลเดียว ในการซื้อขาย จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ส่งออกไทยจะนำสิ่งทอไทยหลากหลายชนิดมาขายที่ตลาดแห่งนี้ เพื่อเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็เปิดโอกาสให้พ่อค้าต่างชาติที่ทำธุรกิจในจีนได้รู้จักสิ่งทอไทยด้วย อย่างไรก็ดี หน้าร้านในตลาดผ้าเตียซื่อเฉียวนั้นส่วนใหญ่มีผู้จับจองเป็นเจ้าของแล้วทั้งสิ้น หากผู้ประกอบการไทยสนใจจะเปิดร้านในตลาดแห่งนี้ จำเป็นต้องเจรจาติดต่อขอเช่าจากเจ้าของร้านชาวจีน
            นอกจากนี้ ในปัจจุบัน มณฑลเจียงซูกำลังมองหาคู่ค้าทางธุรกิจที่มีศักยภาพเพื่อขยายฐานธุรกิจ ผู้ประกอบการไทยสามารถนำสินค้าร่วมสมัยที่มีความโดดเด่นเข้ามาบุกตลาดจีน พร้อมโชว์ลูกเล่นเสื้อผ้าแบบ D.I.Y. (Do It by Yourself) ในการจับฐานลูกค้าชาวจีน เพื่อสร้างความแปลกใหม่และความแตกต่างจากสินค้าทั่วไปที่สามารถหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด ซึ่งการออกแบบที่มีคุณภาพและมีเอกลักษณ์โดดเด่นเพียงครั้งเดียวสามารถส่งออกขายได้หลากหลายตลาด อนึ่ง ผู้ประกอบการไทยควรต้องสำรวจความนิยมและความต้องการของลูกค้าชาวจีนที่มีต่อสิ่งทอไทยในจีนด้วย เพื่อประโยชน์ในการวางแผนธุรกิจและการออกแบบสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดจีน 
 
บทส่งท้าย
 
 
            BIC Shanghai รู้สึกประทับใจกับการไปเยือนเมืองหนานทง ซึ่งเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาและตั้งอยู่ไม่ห่างจากนครเซี่ยงไฮ้ นอกจากนี้ สังเกตได้ว่า การพัฒนาเขตเศรษฐกิจในเมืองหนานทงเป็นการนำโมเดล SIP (Singapore Industrial Park) ซึ่งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างยิ่งในสิงคโปร์มาประยุกต์ใช้ โดยวางรูปแบบเขตอุตสาหกรรมให้แรงงานพักอาศัยอยู่ในละแวกที่ทำงาน เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้ประชากรในพื้นที่และละแวกใกล้เคียง (Cross Border Economic) อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาการย้ายถิ่นฐานมาทำงานต่างถิ่น ซึ่งสามารถลดภาระการดูแลครอบครัวของบุคลากรได้อีกด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในชุมชน เพื่อสร้างให้เขตเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นพื้นที่ใช้ชีวิตครบวงจร ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เน้นความสวยงามของอาคารบ้านเรือน โดยอนุรักษ์อาคารเก่า ๆ หรือหากมีการสร้างอาคารใหม่ก็ยังคงรูปแบบเดิมอย่างไม่แปลกแยก ทั้งนี้ การพัฒนาอย่างยั่งยืนในชุมชนเป็นนโยบายที่รัฐบาลจีนปัจจุบันกำลังให้ความสำคัญมากขึ้น 
 
จัดทำโดย นางสาวชนิกานต์ การวิวัฒน์  
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้
ข้อมูลอ้างอิง  
๑.ข้อมูลจากประสบการณ์การเยี่ยมชมเขตท่าเรือเศรษฐกิจอ่าวทงโจวและตลาดผ้าเตียซื่อเฉียว วันที่ ๒๖ - ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
 
ที่มา : http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/misc/detail.php?SECTION_ID=521&ID=16247