การประชุม “อนาคตของประชาคมอาเซียนของเราในปี ๒๕๕๘ สู่ ๒๕๖๘” ณ ห้องนราธิป กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๙

การประชุม “อนาคตของประชาคมอาเซียนของเราในปี ๒๕๕๘ สู่ ๒๕๖๘” ณ ห้องนราธิป กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๙

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.พ. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 พ.ย. 2565

| 2,478 view
            เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๙ กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศได้จัดการประชุม “อนาคตของประชาชมอาเซียนของเราในปี ๒๕๕๘ สู่ ๒๕๖๘” เนื่องในโอกาสการเปิดตัวหนังสือ Positioning the ASEAN Community in an Emerging Asia: Thai Perspectives ซึ่งรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับอนาคตของประชาคมอาเซียน จากผู้เชี่ยวชาญด้านอาเซียนของไทย ๔ ท่าน ได้แก่ นายกวี จงกิจถาวร อดีตผู้ช่วยพิเศษของเลขาธิการอาเซียน ดร. เติมศักดิ์ เฉลิมพลานุภาพ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเมืองและความมั่นคง สำนักเลขาธิการอาเซียน ดร. สุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง อดีตรองเลขาธิการอาเซียน และนายอภิชัยสัณห์จินดา อดีตผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอาเซียน รวมทั้งแนะนำหนังสืออีกเล่ม คือ ASEAN 2025: Forging Ahead Together ซึ่งประกอบด้วยวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ และแผนงานประชาคมอาเซียน ระยะ ๑๐ ปี (๒๕๕๙ - ๒๕๖๘) พร้อมคำแปลภาษาไทยอย่างไม่เป็นทางการ
 
            การประชุมครั้งนี้ ได้รับการตอบรับอย่างมากจากทุกภาคส่วน อาทิ ผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กร ภาคประชาสังคม คณะทูตานุทูต สภานิติบัญญัติแห่งชาติ นักวิชาการ และสื่อมวลชน นอกจากนี้ เอกอัครราชทูต และผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ได้ร่วมให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมด้วย
 
            นายจักรกฤษณ์ ศรีวลี อธิบดีกรมอาเซียน ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน แจ้งวัตถุประสงค์และที่มาของการจัดการประชุมครั้งนี้ และหวังว่าการประชุมฯ จะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและการหารืออย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนและแผนงานประชาคมอาเซียนฉบับใหม่ไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป 
 
            นายวีระศักดิ์ ฟู่ตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม โดยเน้นย้ำถึงการเป็นประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีขีดความสามารถในการแข่งขัยสูง และมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก ตลอดจนเป็นประชาคมที่ทุกคนมีส่วนร่วมและไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง
 
            ในช่วงแรกของการประชุมฯ วิทยากรทั้ง ๔ ได้กล่าวบรรยายสรุปบทความของตน พร้อมให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับทิศทางและการดำเนินงานของอาเซียน เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของประชาคมอาเซียน โดยมี นายสุริยา จินดาวงษ์ รองอธิบดีกรมอาเซียน เป็นผู้ดำเนินรายการ
 
            ตลอดการหารือ วิทยากรทั้ง ๔ ท่าน ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและการรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียน โดยเฉพาะการหารือและมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งภายในของอาเซียนเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในมิติด้านการเมืองและความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจ สำหรับด้านสังคมและวัฒนธรรม วิทยากรเสนอแนะว่า อาเซียนควรให้ความสนใจกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะด้านการศึกษาและการพัฒนาทักษะให้มากขึ้น รวมทั้งเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ประชาคมอาเซียนที่จัดตั้งขึ้นควรเป็นประชาคมแห่งโอกาสที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง 
 
            นอกจากนี้ ควรมีการเสริมสร้างความตระหนักรู้และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนให้แก่ประชาชน โดยเชื่อมั่นว่า ประชาคมอาเซียนจะสามารถบรรลุความคาดหวังของประชาชนได้ด้วยความร่วมมือและการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกภายหลังการรับรองวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕
 
            ช่วงสุดท้ายของการประชุม คือ ช่วงถาม – ตอบ ผู้เชี่ยวชาญทั้ง ๔ ท่าน ได้ตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมาส่วนผู้เข้าร่วมการประชุมได้ให้ความสนใจโดยมีการถามคำถามที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงประเด็นหลักการสำคัญของอาเซียน ได้แก่ การไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก และการตัดสินใจบนหลักฉันทามติ
 
            ทั้งนี้ หากท่านต้องการขอรับหนังสือทั้งสองเล่มข้างต้น โปรดติดต่อกรมอาเซียนได้ที โทร. ๐๒ ๒๐๓ ๕๐๐๐ ต่อ ๑๔๓๘๔ หรือสามารถดาวน์โหลดไฟล์ pdf ได้จากลิงค์ต่อไปนี้ 
 
Positioning the ASEAN Community in an Emerging Asia: Thai Perspectives: http://www.mfa.go.th/asean/contents/files/asean-media-center-20160204-120454-919449.pdf
 
ASEAN 2025: Forging Ahead Together พร้อมคำแปลภาษาไทยอย่างไม่เป็นทางการ http://www.mfa.go.th/asean/contents/files/asean-media-center-20160203-160850-836205.pdf