ผลการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ ๒

ผลการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ ๒

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 ธ.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 16 ก.ย. 2565

| 2,573 view

         เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๘ กระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียครั้งที่ ๒ โดยมีประเทศเข้าร่วมจำนวน ๑๘ ประเทศ รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องอีก ๖ องค์การ ที่ประชุมได้หารือกันในประเด็นต่างๆ อาทิ สถานการณ์ปัจจุบัน แนวโน้ม และความท้าทายของการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย  การติดตามผลจากการประชุมครั้งที่ ๑ ในกรอบความร่วมมือภูมิภาคต่างๆ และการติดตามการดำเนินการของประเทศที่เข้าร่วม รวมทั้งหารือถึงมาตรการในการดำเนินการต่อไป โดยไทยในฐานะประธานได้เสนอเอกสารแนวทางความร่วมมือ (Action Agenda) เพื่อแก้ไขปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย เพื่อให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดทั้ง ๕ ประเทศ นำกลับไปพิจารณาก่อนการหารือร่วมกันอีกครั้งหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ในโอกาสที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสกลุ่มเฉพาะกิจของกระบวนการบาหลี (Bali Process Ad Hoc Group Senior Officials Meeting)
         ที่ประชุมได้รับฟังการบรรยายถึงภาพรวมสถานการณ์ แนวโน้ม ความท้าทายในการบริหารจัดการการโยกย้ายถิ่นฐาน และการป้องกันและปราบปรามการขบวนการลักลอบขนคนและค้ามนุษย์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง คือ UNHCR IOM และ UNODC นอกจากนั้น เอกอัครราชทูตผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยยังได้กล่าวถึงสถานการณ์ในยุโรป ตลอดจนแนวปฏิบัติของยุโรปในการรับมือกับปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ
ในส่วนของกรอบความร่วมมือในภูมิภาค ที่ประชุมรับทราบพัฒนาการต่างๆ ในกรอบอาเซียนจากสำนักเลขาธิการอาเซียน อาทิ ความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ และการลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก รวมทั้งพัฒนาการในกรอบกระบวนการบาหลีจากอินโดนีเซียและออสเตรเลียในฐานะประธานร่วมกระบวนการบาหลี
         การประชุมนี้ยังเป็นโอกาสให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดทั้งห้าประเทศคือ เมียนมา บังกลาเทศ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย มาหารือร่วมกัน เพื่อหาหนทางจัดการกับปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติร่วมกันต่อไป ประเทศทั้งห้าได้ย้ำถึงความพยายามและมาตรการของแต่ละประเทศ อาทิ ความร่วมมือระหว่างเมียนมากับ UNODC และการให้ความร่วมมือของบังกลาเทศในการพิสูจน์สัญชาติและรับกลับผู้โยกย้ายหถิ่นฐานชาวบังกลาเทศ 
         ที่ประชุมยินดีที่ต่อการที่ทั้ง ๕ ประเทศจะดำเนินโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ระดับภูมิภาค โดยร่วมมือกับ IOM เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอันตรายและความเสี่ยงของการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ โดยไทยได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะบริจาคเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ แก่ IOM เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมภายใต้การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ระดับภูมิภาคดังกล่าวด้วย
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ